เอมิเรตส์กรุ๊ป (Emirates Group) และ ดูไบ แอร์พอร์ตส์ (Dubai Airports) เผยผลการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตอกย้ำว่าการบินมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของดูไบ โดยการคำนวณสัดส่วนของการมีส่วนร่วม และการคาดการณ์แนวโน้มขาขึ้นของภาคการบิน ซึ่งอิงตามการคาดการณ์การเติบโตของผู้โดยสารและการเงินสำหรับภาคส่วนดังกล่าว
ผลการศึกษาซึ่งจัดทำโดยบริษัทวิจัยระดับโลกอย่าง Oxford Economics มีการประเมินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทางตรงที่เกิดจากภาคการบิน กิจกรรมทางอ้อมที่เกิดผ่านห่วงโซ่อุปทานของภาคการบิน และกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากการใช้จ่ายที่สนับสนุนโดยค่าแรงของแรงงานในอุตสาหกรรมการบินในท้องถิ่น นอกจากนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวยังได้มีการประเมินผลกระทบที่เป็นตัวเร่งของการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวที่มาจากภาคการบินในดูไบอีกด้วย
ท่านเชค อาห์เมด บิน ซาอีด อัล มัคตูม ประธานกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบิน และกลุ่มบริษัทเอมิเรตส์ และประธานกรรมการ บริษัท ดูไบ แอร์พอร์ตส์ กล่าวว่า “ภายใต้การบริหารของท่านเชค มุฮัมมัด บิน รอชิด อาล มักตูม ภาคการบินของดูไบได้กลายเป็นเสาหลักในกลยุทธ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองเราจวบจนถึงปัจจุบัน และจะยังคงมีบทบาทสำคัญในวาระเศรษฐกิจ Dubai Economic Agenda D33”
“ดูไบเป็นมหานครที่โดดเด่นบนเวทีโลกทั้งในด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ เนื่องด้วยโครงข่ายการเชื่อมต่อทางอากาศที่แข็งแกร่ง แผนการอันมุ่งมั่นของเราสำหรับท่าอากาศยานนานาชาติดูไบเวิลด์เซ็นทรัล – อัล มัคตูม และการลงทุนอย่างต่อเนื่องของเราเพื่อขยายขีดจำกัดของท่าอากาศยานนานาชาติดูไบ จะเป็นสิ่งที่ช่วยปลดล็อกโอกาสทางเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยการส่งเสริมความต้องการการขนส่งทางอากาศที่คาดการณ์ไว้ แผนการเติบโตของเราจะช่วยสร้างงานที่มีทักษะมากขึ้น และจะยังช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมอันเนื่องมาจากการร่วมงานกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีชั้นนำเพื่อพัฒนาหาโซลูชันในอนาคตเพื่อนำมาปรับปรุงประสบการณ์การเดินทาง และช่วยให้การดำเนินงานนั้นมีประสิทธิภาพ และปลอดภัยยิ่งขึ้น” ท่านเชค อาห์เมด บิน ซาอีด อัล มัคตูม กล่าวเสริม
การมีส่วนร่วมของภาคการบินต่อเศรษฐกิจดูไบ
ในปี 2023 ภาคการบินของดูไบ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มบริษัทเอมิเรตส์ สนามบินดูไบ (รวมไปถึงท่าอากาศยานนานาชาติดูไบ, ท่าอากาศยานนานาชาติดูไบเวิลด์เซ็นทรัล – อัล มัคตูม) และหน่วยงานภาคการบินอื่น ๆ[1] คาดว่าจะส่งเสริมมูลค่าเพิ่มรวมประมาณ 137 พันล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (37.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)[2] ซึ่งคิดเป็น 27% ของ GDP ของดูไบ โดยรวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจหลักที่มีมูลค่ากว่า 94 พันล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ 43 พันล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จากผลกระทบที่เป็นตัวเร่งของการท่องเที่ยวที่เกิดจากการบิน โดยมีการคาดการณ์ว่าตัวเลขเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกิจกรรมทางการบินที่ดำเนินการโดยสายการบินเอมิเรตส์ และสนามบินดูไบจะมีส่วนช่วยราว ๆ 196 พันล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือนับเป็น 32% ของ GDP ที่คาดการณ์ของดูไบในปี 2030 (อัตราราคาปี 2023)
กิจกรรมที่เกิดจากอุตสาหกรรมการบินสามารถช่วยสร้างงานได้กว่า 631,000 ตำแหน่งในดูไบ ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 5 ของตำแหน่งงานทั้งหมดในเอมิเรตส์ในปี 2023 และคาดว่าจะมีการสร้างงานที่เกี่ยวข้องกับการบินเพิ่มขึ้นอีก 185,000 ตำแหน่งภายในปี 2030 โดยจำนวนตำแหน่งงานทั้งหมดที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคการบินของดูไบคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 816,000 ตำแหน่ง
รายงานผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เผยแพร่โดย Oxford Economics ในปี 2014 พบว่าภาคการบินมีส่วนสนับสนุนใน GDP ของดูไบถึง 27% และสนับสนุนการจ้างงานกว่า 417,000 ตำแหน่ง แม้ว่าผลสำรวจล่าสุดจะบ่งชี้ว่าสัดส่วนทาง GDP ของดูไบยังคงมีเสถียรภาพ แต่จำนวนมูลค่าเพิ่มรวมของภาคการบินได้เพิ่มขึ้นในแง่ที่แท้จริง โดยตัวเลขในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตที่รวดเร็วยิ่งขึ้นในภาคส่วนอื่น ๆ ตลอดจนการกระจายความเสี่ยงในเศรษฐกิจในวงกว้างในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
การลงทุนที่สำคัญของดูไบเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับอนาคตของภาคการบิน และเพื่อรับประกันว่าภาคการบินจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญนั้น สะท้อนให้เห็นได้จากการลงทุนขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องเพื่อขยายกำลังการผลิต และการดำเนินงานที่สนามบินนานาชาติดูไบ นอกจากนี้ยังมีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกแห่งใหม่ที่ ท่าอากาศยานนานาชาติดูไบเวิลด์เซ็นทรัล – อัล มัคตูม อีกด้วย สนามบินแห่งใหม่มูลค่า 128 พันล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นี้ จะมีขนาดใหญ่กว่าสนามบินนานาชาติในดูไบถึง 5 เท่า โดยเฟสแรกจะแล้วเสร็จภายใน 10 ปี และเมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ท่าอากาศยานนานาชาติดูไบเวิลด์เซ็นทรัล – อัล มัคตูม จะมีจุดจอดเครื่องบินมากกว่า 400 จุด และสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 260 ล้านคนต่อปี การขยายตัวของท่าอากาศยานนานาชาติดูไบเวิลด์เซ็นทรัล – อัล มัคตูม ไม่รวมอยู่ในผลการศึกษาผลกระทบหลัก[3] อย่างไรก็ตาม โครงการก่อสร้างนี้คาดว่าจะช่วยส่งเสริม GDP ของดูไบในปี 2030 ราว ๆ 6.1 พันล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้งสนับสนุนการจ้างงาน 132,000 ตำแหน่ง
สนามบินแห่งใหม่ และโครงสร้างพื้นฐานโดยรอบจะมีส่วนช่วยในวาระเศรษฐกิจ D33 ของดูไบ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างการค้า และการท่องเที่ยวของเอมิเรตส์ นอกจากนี้ แผนพัฒนาอันก้าวหน้าของ D33 ยังมีเป้าหมายที่จะทำให้ดูไบเป็นหนึ่งในเมืองที่มีการเชื่อมต่อมากที่สุด โดยการเพิ่มจุดหมายปลายทาง 400 แห่งในแผนที่การค้าต่างประเทศ รวมถึงทำให้ดูไบเป็นหนึ่งในห้าศูนย์โลจิสติกส์ชั้นนำของโลก
การบินและการท่องเที่ยวในดูไบ
การบินยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการเติบโตของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศไปยังดูไบ ด้วยการเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่มีผู้คนแวะเวียนมากที่สุดในโลก ดูไบมีนักท่องเที่ยวเข้าพักโดยเฉลี่ย 3.8 คืนในปี 2023[4] และใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 4,300 ดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในการเข้าพักโรงแรม ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว และแหล่งช้อปปิ้ง จากผลการรายงาน นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางไปยังดูไบมีการใช้จ่ายประมาณ 66 พันล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในปีที่ผ่านมา
โดยรวมแล้ว การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวที่เกิดจากการบินคาดว่าจะมีส่วนช่วยประมาณ 43 พันล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในมูลค่าเพิ่มรวม หรือคิดเป็น 8.5% ของ GDP ของดูไบ สนับสนุนการจ้างงานกว่า 329,000 ตำแหน่ง โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าเพิ่มรวมซึ่งมีมูลค่า 23 พันล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาจากผู้โดยสารที่บินไปยังดูไบด้วยสายการบินเอมิเรตส์ การท่องเที่ยวไปยังดูไบคาดว่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 6 ปีข้างหน้า โดยการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวที่เกิดจากการบินคาดว่าจะส่งเสริมมูลค่าเพิ่มรวมสูงถึง 63 พันล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งคิดเป็น 10% ของ GDP ที่คาดการณ์ไว้ของดูไบ และมีส่วนในการสร้างงานหนึ่งในแปดตำแหน่งในดูไบ
สามารถอ่านรายงาน Oxford Economics ฉบับเต็ม ‘The Economic Impact of Aviation In Dubai’ ได้ที่นี่
https://www.kaosanonline.com/?p=70703