ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้ราคาพลังงานผันผวนอย่างต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลายประเทศต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย
ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และการแบ่งขั้วทางการเมืองของประเทศมหาอำนาจ เร่งให้เกิดการย้ายฐานผลิตอีกครั้ง ถือเป็นโจทย์ใหม่ที่ท้าทายสำหรับประเทศไทยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลไทยได้ใช้ความได้เปรียบจากการเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน และความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนี้ ในการดึงดูดต่างชาติกลุ่มใหม่ผู้มีความมั่งคั่ง มีทักษะและความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีใหม่ เพื่อมากระตุ้นการใช้จ่าย การลงทุน และช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการเปิดตัววีซ่าประเภทใหม่ “Long – Term Resident Visa: LTR Visa” และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ เพื่อขับเคลื่อน LTR Visa ให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดกลุ่มนักลงทุน ผู้มีความมั่งคั่ง ผู้มีทักษะและความเชี่ยวชาญสูงให้เข้ามาพำนักในประเทศไทย
โดย LTR Visa เป็นวีซ่าพำนักระยะยาวสำหรับชาวต่างชาติ โดยให้สิทธิพำนักในประเทศไทยได้ถึง 10 ปี พร้อมได้ใบอนุญาตทำงานควบคู่ไปด้วย และให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี โดยลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลือร้อยละ 17 และให้สิทธิมีผู้ติดตามได้ 4 คน มีเป้าหมายดึงชาวต่างชาติกลุ่มใหม่
จุดเด่นของ LTR Visa คือ ผ่อนปรนข้อบังคับต่าง ๆ ของผู้พำนักชาวต่างชาติ เช่น สิทธิในการใช้ช่องทางพิเศษในการเข้าออกราชอาณาจักร การรายงานตัวทุก 1 ปี จากเดิม 90 วัน ช่วยอำนวยความสะดวกให้การจ้างงานชาวต่างชาติทำงานได้ง่ายขึ้น ส่งผลในการช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเอกชนไทย และช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง
LTR Visa ได้รับกระแสการตอบรับที่ดีจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ และผู้เชี่ยวชาญที่ต้องการทำงานในประเทศไทย โดยหลังเปิดตัวเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 และตลอดเดือนกันยายน 2565 มีผู้ยื่นขอ LTR Visa แล้ว 831 คำขอ โดยร้อยละ 39 ของกลุ่มที่ยื่นขอ LTR Visa เป็นผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy Pensioners) รองลงมาเป็นกลุ่มผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand Professionals) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 จะเห็นได้ว่าผู้ที่ยื่นขอ LTR Visa เป็นผู้เกษียณอายุที่มั่งคั่ง และเป็นกลุ่มผู้ที่ต้องการทำงานในประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และมีความสามารถในการจับจ่าย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายจะมีชาวต่างชาติขอให้สิทธิ LTR Visa ราว 1 ล้านคน ภายใน 5 ปี
บีโอไอปรับโครงสร้างองค์กรรับ LTR Visa
เพื่อเป็นการรองรับการให้บริการ LTR Visa บีโอไอในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลักได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ อำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน และส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ โดยเปิด 2 กองใหม่ ได้แก่ กองบริการชาวต่างชาติ (Expatriate Services Division) และกองเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness Enhancement Division)
สำหรับกองบริการชาวต่างชาติ (Expatriate Services Division) ที่บีโอไอตั้งขึ้นใหม่ จะเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน LTR Visa รวมถึง SMART Visa เพื่อรองรับการเข้ามาพำนักและทำงานของบุคลากรต่างชาติในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทย รวมทั้งได้ยกระดับศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงานให้ครอบคลุมบุคลากรต่างชาติหลากหลายกลุ่มมากขึ้น ด้วยบริการผ่านระบบ e – services ต่าง ๆ
LTR Visa ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทย ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะสูงในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่อนาคต ด้วยความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นฐานผลิตของภูมิภาค ในท่ามกลางวิกฤตของโลกที่เกิดขึ้น จะเป็นโอกาสของเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง