การพัฒนาเศรษฐกิจในภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตสินค้าการเกษตร โมเดลแก้จนเกษตรแปลงรวม จึงถือเป็นแนวทางหนึ่งที่ได้รับการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดทางทรัพยากรและการจัดการ ซึ่งการใช้โมเดลนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน แต่ยังสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่ได้ แม้เราจะได้ยินว่า บุรีรัมย์ เปลี่ยนไปมากจากอดีต เป็นจุดหมายของกีฬาความเร็วระดับโลก มีทัวร์นาเมนท์มากมายทั้งไทยและต่างชาติเวียนจัดการแข่งขันตลอดทั้งปี มีทีมฟุตบอลยักษ์ใหญ่ระดับแชมป์ไทยลีก 9 สมัย บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป็นบ้านเกิดของสาวน้อยบ้านสตึก ลิซ่า ลลิษา มโนบาล ยังไม่รวมกับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่างอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งที่พลาดไม่ได้สำหรับผู้มาเยี่ยมเยือนจังหวัดนี้ มีข่าวเงินสะพัดมหาศาลให้ได้ยินหลายครั้ง แต่อันที่จริงแล้วจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างแห่งนี้ เป็นจังหวัดที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนสูงสุดแห่งหนึ่งของประเทศ พื้นที่ของจังหวัดจากทั้งหมด ราว 6.4 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมถึง 70 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 4.5 ล้านไร่ ครัวเรือนส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตร หลายปีแล้วที่พื้นที่ต่างๆมีความตื่นตัวในการแก้ปัญหา เกิดโครงการขึ้นมามากมาย และ บ้านนาเกียรตินิยม ที่สะแกโพรง เวลานี้ได้กลายเป็นเป็นพื้นที่ต้นแบบ โมเดลเกษตรแปลงรวมแก้จน สำหรับหลายพื้นที่ในอำเภอใกล้เคียง

              รูปแบบการแก้ปัญหาความยากจนด้วยโมเดลเกษตรแปลงรวม เริ่มขึ้นเมื่อปี 2564 จากการค้นพบ ศักยภาพของพื้นที่ Pilot Study บ้านหนองค่ายตำบลบ้านบัว อ.เมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นการนำพื้นที่สาธารณะของชุมชน มาพัฒนาและจัดสรรให้ครัวเรือนคนจนที่ไม่มีที่ดินทำกินได้ทำเกษตร ด้วยการปลูกพืชผักเพื่อให้มีแหล่งอาหารในครัวเรือน ให้พออยู่พอกิน ลดรายจ่าย ตามแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

              พื้นที่บ้านนาเกียรตินิยม หมู่ 17 ต.สะแกโพรง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้เข้าร่วมโครงการบูรณาการความร่วมมือการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยโมเดลเกษตรแปลงรวมแก้จนเพื่อการแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์  เมื่อปี พ.ศ. 2565 ต่อเนื่องมาถึงปี 2567  เป็นการต่อยอดขยายผลจากโมเดลเกษตรแปลงรวม  การบริหารพื้นที่สาธารณะสู่เกษตรแปลงรวมสร้างสุข(แก้จน) ผ่านกระบวนวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ที่ได้บูรณาการการทำงานโดยใช้กลไกความร่วมมือระหว่างเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ซึ่งมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นายธัชกร หัตถาธยากูล (ในสมัยนั้น) มีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ โดยรองศาสตราจารย์มาลิณี จุโฑปะมา อธิการบดี ร่วมลงนาม MOU เพื่อขับเคลื่อนโครงการแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ พื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ มีหน่วยงาน 19 หน่วยงาน เข้าร่วม อาทิ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานพัฒนาชุมชน ปกครองจังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานที่ 37 บุรีรัมย์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน) สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านบุรีรัมย์เมืองน่าอยู่  เป็นต้น เพื่อร่วมบูรณาการพัฒนาครัวเรือนยากจนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ที่ผ่านการสอบทานในระบบ PPP Connext ปี 2564 ทั้งนี้ผลจากการสอบทานข้อมูล คณะผู้วิจัย พบว่า ตำบลสะแกโพรงมีครัวเรือนคนจนมากเป็นลำดับที่ 1 ของอำเภอเมือง คือมีจำนวน 734 ครัวเรือน มีคนจนอาศัยอยู่ จำนวน 3,299 คน และพื้นที่ตำบลสะแกโพรง ยังพบว่า บ้านนาเกียรตินิยม มีครัวเรือนคนจนอาศัยอยู่มากถึง 51 ครัวเรือน จำนวนคนจน 198 คน เป็นคนจนที่จัดอยู่ใน กลุ่มอยู่ยากและอยู่พอได้ซึ่งไม่มีที่ดินทำกิน มีทักษะการทำเกษตร และในหมู่บ้านยังมีพื้นที่สาธารณะ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จำนวน 4 ไร่ และมีแหล่งน้ำซึ่งสามารถใช้เพื่อการเกษตรได้ เมื่อนักวิจัยได้นำข้อมูลเข้าหารือกับผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ของโครงการ จึงได้รับความร่วมจากผู้นำชุมชนช่วยประชาสัมพันธ์โครงการ และได้รับสมัครครัวเรือนคนจนกลุ่มเป้าหมายที่มีความประสงค์และสมัครใจเข้าร่วมโครงการ  จำนวน 37 ครัวเรือน

              กระบวนการการแก้ปัญหาความยากจนด้วยโมเดลเกษตรแปลงรวมสร้างสุข (แก้จน) ที่เหมาะสมกับศักยภาพบริบทพื้นที่และครัวเรือนคนจน บ้านนาเกียรตินิยม คณะผู้วิจัยได้ใช้กระบวนการพัฒนาเกษตรแปลงรวมสร้างสุข 10 ขั้นตอน ดังนี้   

ซึ่งกระบวนการพัฒนาอาชีพเกษตรแปลงรวมเป็นกระบวนการที่เกิดจากกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ ซึ่งได้แนวทางจากทดลองปฏิบัติการในพื้นที่บ้านหนองค่าย Pilot Study ปี 2564 การดำเนินงานในทุกระยะของการพัฒนา ได้มีสร้างการเปลี่ยนแปลงทุน 5 ด้าน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปรับแนวทางให้เหมาะสมกับบริบทและศักยภาพของพื้นที่และครัวเรือนคนจน และนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่บ้านนาเกียรตินิยม และพื้นที่อื่น ๆ ของจังหวัดบุรีรัมย์

ผลการดำเนินงานพื้นที่บ้านนาเกียรตินิยม สามารถยกระดับทุนดำรงชีพ 5 ด้าน ให้กับครัวเรือนยากจน 37 ครัวเรือน ให้ดีขึ้นตามลำดับ กล่าวคือ ด้านที่ 1 การยกระดับทุนมนุษย์ ผ่านการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความรู้และทักษะอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ ด้วยการ ปลูกพืชแบบผสมผสาน ทำปุ๋ยน้ำหมักอินทรีย์ชีวภาพ ทำสารชีวภัณฑ์กำจัดแมลง  ทำปุ๋ยหมักอินทรีย์  การเผาถ่านและทำน้ำส้มควันไม้ และการจัดกิจกรรมการศึกษาดูงาน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ให้มีความหวังและเป้าหมายการพัฒนาร่วมกัน ด้านที่ 2 การยกระดับทุนทางสังคม มีการรวมกลุ่มสมาชิกเกษตรแปลงรวม และการจดทพเบียนวิสาหกิจชุมชนเกษตรสร้างสุข มีกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เกิดการพึ่งพาซึ่งกันและกัน เกิดสังคมเอื้ออาทร แบ่งปัน เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ด้านที่ 3 การยกระดับทุนทางเศรษฐกิจ มีการใช้พื้นที่สาธารณะและพื้นที่รอบครัวเรือน ปลูกพืช ผัก สามารถลดรายจ่ายและมีรายได้เพิ่มจากการขายพืชผักในเกษตรแปลงรวม ด้านที่ 4 การยกระดับทุนทรัพยากรธรรมชาติ ได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะ 4 ไร่ จัดเป็นพื้นที่แปลงรวม เพื่อปลูกพืช ผัก พัฒนาสิ่งแวดล้อม ได้ใช้แหล่งน้ำของชุมชน เป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์และเพิ่มคุณค่าของทรัพยกรในชุมชน  ด้านที่ 5  การยกระดับทุนทางกายภาพ มีการจัดสรรและพัฒนาพื้นที่ ให้ครัวเรือนคนจนมีที่ดินทำกินเพิ่มขึ้น ครัวเรือนละ 1 แปลง ซึ่งสามารถเป็นสิทธิ ให้ลูกหลานในครอบครัวเป็นพื้นที่ทำกินต่อ ๆ กันไปได้  

ต่อมาในปี 2566  คณะผู้วิจัยได้ขยายรูปแบบการพัฒนายกระดับครัวเรือนคนจนด้วยโมเดลเกษตรแปลงรวมออกไป อีก 10 พื้นที่ ในอำเภอนางรอง และอำเภอสตึก โดยใช้พื้นที่เกษตรแปลงรวมของบ้านนาเกียรตินิยม เป็นพื้นที่ต้นแบบ แหล่งเรียนรู้ ในการขับเคลื่อน  เกิดการบูรณาการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างท้องถิ่น ท้องที่ ครัวเรือนคนจน และหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม ที่มีนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาสนับสนุน มีกลยุทธ์การทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่กระบวนการ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้พื้นที่สาธารณะจาก 10 หมู่บ้าน มีครัวเรือนคนจนเป้าหมายจาก 10 พื้นที่สมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 282 ครัวเรือน สามารถพัฒนายกระดับทุน 5 ด้านได้ดังนี้  

1.ทุนทางกายภาพ เกิดการเปลี่ยนแปลงการจัดการพื้นที่สาธารณะ10 พื้นที่ ใน 2 อำเภอ10 หมู่บ้าน จำนวน 20 ไร่ เป็นแปลงพืช ผัก แหล่งผลิตอาหารปลอดภัย ของชุมชน

2.ทุนทางสังคม เกิดกลุ่มสังคมใหม่ที่เข้มแข็ง  10 กลุ่ม ขึ้นทะเบียนวิสาหกิจชุมชนเกษตรสร้างสุข 5 กลุ่ม นำเข้าแผนพัฒนาของ อปท. ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

3.ทุนมนุษย์ ครัวเรือนคนจน 282 ครัวเรือน มีความรู้และทักษะอาชีพ โดยใช้ เทคโนโลยี นวัตกรรม การบริหารจัดการพืช ดิน น้ำ ป่า ฯ  ปุ๋ยน้ำหมักอินทรีย์ชีวภาพ ปุ๋ยหมัก ผักยกแคร่  ผักไร้ดิน การจัดการผลผลิต การตลาด และการต่อยอด ภูมิปัญญาท้องถิ่น อื่น ๆจากผลผลิตเกษตรแปลงรวม

4.ทุนทางเศรษฐกิจ ลดรายจ่ายเฉลี่ยครัวเรือนละ 26 บาทต่อวัน  เกิดรายได้เพิ่มเติมเฉลี่ย 16บาท ต่อวัน ยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนให้ดีขึ้น

5.ทุนทางธรรมชาติ เกิดการใช้แหล่งน้ำชุมชน ที่ดินว่างเปล่า  ป่าชุมชน เพิ่มคุณค่าทรัพยากร สิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับครัวเรือนคนจน

ในปี 2567 บ้านนาเกียรติในยมได้เสนอแผนเพื่อพัฒนาพื้นที่เกษตรแปลงรวมเข้า ข้อบัญญัติขององค์การบริหารส่วนตำบลสะแกโพรง โดยได้รับการสนับสนุนให้เจาะบาดาลโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เติมน้ำเข้าสู่แหล่งน้ำเพื่อการใช้ในเกษตรแปลงรวม เป็นการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดจากฝนทิ้งช่วง ปัญหาภัยแล้ง และสนับสนุนให้ทำรั้ว เพื่อป้องกันสัตว์ โค กระบือ ไม่ให้เข้ามาทำความเสียหายแก่ผลผลิตของกลุ่มเกษตรแปลงรวม อีกเป็นการปรับภูมิทัศน์บริเวณพื้นที่เกษตรแปลงรวม ให้น่าชมเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ทั้งนี้คณะกรรมการกลุ่มเกษตรแปลงรวม ได้วางแผนจะพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เป็นตลาดศูนย์กระจายสินค้าชุมชน เพื่อต่อยอดอาชีพตามบริบทของชุมชนที่มีความหลากหลายของชุมชนต่อไป

ผลจากการดำเนินงานภายใต้กระบวนการของโมเดลเกษตรแปลงรวมแก้จน ที่ต่อเนื่องมา 2 ปี ทำให้เกิดการพัฒนาและยกระดับครัวเรือนยากจน ส่งผลให้เกิดเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของครัวเรือนจนไปในทิศทางที่ดีขึ้น จึงทำให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นายนฤชา โฆษาศิวิไลย์ ( ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ปัจจุบัน ) เล็งเห็นความสำคัญและสนับสนุนให้โมเดลเกษตรแปลงรวมแก้จนเป็นเมนูแก้จน เพื่อใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตครัวเรือนยากจน สร้างโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรที่เท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างแหล่งอาหารปลอดภัย สร้างสุขภาพของคนและสังคมที่ดี เพื่อสังคมเกื้อกูล ยั่งยืน ที่เหมาะสมกับบริบทของจังหวัดบุรีรัมย์ และประกาศให้นำใช้เป็นนโยบายการพัฒนาภายใต้หน่วยงานของจังหวัดบุรีรัมย์ต่อไป 

หน่วยงานภาคีเครือข่ายเกษตรแปลงรวมสร้างสุข (ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ)

ปี 2566 พื้นที่ขยายผลโมเดลเกษตรแปลงรวม  10 พื้นที่  สร้างโอกาสเข้าถึงทรัพยากรเพื่อการพัฒนาคนจน พัฒนาเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ส่งต่อหน่วยงาน อปท.ในพื้นที่ เพื่อพัฒนาและยกระดับอาชีพ

www.kaosanOnline.com/?p=72010

By admin

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *