ดีลอยท์ โกลบอล ร่วมกับ The 30% Club เผยแพร่รายงาน Women in the Boardroom: A global perspective ฉบับที่ 7 โดยรายงานฉบับล่าสุดพบว่า ในคณะกรรมการบริษัททั่วโลก มีผู้หญิงร่วมดำรงตำแหน่งคิดเป็น 19.7% เพิ่มขึ้น 2.8% จากที่ระบุไว้ในรายงานที่เผยแพร่ในปี 2562 และคาดว่าโลกจะก้าวสู่ความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริงได้ในปี 2588 จากที่คาดการณ์ไว้แต่เดิมว่าเป็นปี 2595
รายงานฉบับล่าสุดยังเผยว่า ภูมิภาคหลักทั้ง 8 แห่ง (อเมริกาเหนือ ละตินและอเมริกาใต้ แคริบเบียน แอฟริกา ยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เอเชีย และออสตราเลเซีย) มีผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งกรรมการอยู่อย่างน้อย 10%
ในปีนี้ ดีลอยท์ โกลบอล ได้ร่วมมือกับ The 30% Club ซึ่งมีพันธกิจหลักในการผลักดันให้มีสัดส่วนของผู้หญิงอย่างน้อย 30% ในที่นั่งบอร์ดบริหาร และดำรงตำแหน่งระดับผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด
รายงานฉบับใหม่นี้ประกอบด้วยข้อมูลล่าสุดจาก 72 ประเทศ เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งกรรมการของผู้หญิง ซึ่งเป็นการสำรวจข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มทางการเมือง สังคม และกฎหมายที่อยู่เบื้องหลังตัวเลขเหล่านี้
ความไม่สอดคล้องของตำแหน่งในระดับผู้นำ
แม้ว่าจะมีสัดส่วนผู้หญิงดำรงตำแหน่งในบอร์ดบริหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยในปี 2564 แต่การที่ผู้หญิงก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงอย่างกรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือ CEO กลับไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งตอกย้ำแนวความคิดที่ว่า การมีสัดส่วนผู้หญิงในคณะกรรมการบริษัทที่มากขึ้น ไม่ได้บ่งชี้ว่า ผู้หญิงจะมีความก้าวหน้าในตำแหน่งระดับผู้บริหารหรือผู้นำต่างๆ ตามไปด้วย
การวิจัยล่าสุดพบว่า ทั่วโลกมีประธานกรรมการที่เป็นผู้หญิงอยู่เพียง 6.7% ซึ่งเพิ่มขึ้นมาเพียง 1.4% จากปี 2018 เท่านั้น แต่ตัวเลขนี้จะยิ่งน้อยลงไปอีก เมื่อดูในส่วนของตำแหน่ง CEO กล่าวคือ 5% หรือเพิ่มขึ้นเพียง 0.6% จากปี 2561 เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยของดีลอยท์ โกลบอล เผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างสัดส่วน CEO ที่เป็นผู้หญิงกับความหลากหลายของคณะกรรมการบริษัทที่มี CEO เป็นผู้หญิง จะมีสัดส่วนของผู้หญิงในบอร์ดบริหารมากกว่าบริษัทที่มี CEO เป็นผู้ชายอย่างมีนัยสำคัญที่ 33.5% เทียบกับ 19.4% ตามลำดับ ตัวเลขทางสถิติให้ผลคล้ายๆ กันสำหรับบริษัทที่มีประธานกรรมการเป็นผู้หญิง (จะมีผู้หญิงอยู่ในคณะกรรมการบริษัทที่ 30.8% เทียบกับ 19.4% ตามลำดับ) และในทางกลับกันคือ คณะกรรมการที่มีความหลากหลายเช่นนี้มีแนวโน้มที่จะแต่งตั้ง CEO และประธานกรรมการที่เป็นผู้หญิงมากกว่า
ความคืบหน้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำมาใช้ศึกษาในรายงานฉบับนี้ ประกอบด้วยอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ซึ่งในภาพรวมแล้ว แต่ละประเทศมีความคืบหน้าที่ดี โดยมีผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริษัทโดยเฉลี่ยที่ 17.1% เทียบกับ 14.3% ในปี 2561 นับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเอเชียที่ 11.7% และใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 19.7%
ในแง่ของอัตราส่วนการเปลี่ยนแปลง จากรายงานพบว่า ภูมิภาคนี้มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 2.7% จากปี 2018 ซึ่งสอดคล้องกับสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นที่ 2.8% ทั่วโลก มาเลเซีย (3.4%) ฟิลิปปินส์ (3.8%) สิงคโปร์ (3.9%) และไทย (3.6%) รายงานถึงสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก้าวนำตัวเลขเฉลี่ยรวมทั่วโลก ในขณะที่อินโดนีเซียลดลง 1.0%
การวิจัยแสดงให้เห็นผลของการแบ่งเป็นสองขั้ว นั่นก็คือว่า ถึงแม้ผู้หญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีตำแหน่งอยู่ในบอร์ดบริหารที่ 6.0% แต่สัดส่วนการเปลี่ยนแปลงมีความหลากหลายมากกว่านั้น ที่เด่นชัดที่สุดคือ อินโดนีเซียมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางลบที่ 2.4% ส่วนมาเลเซียและไทยรายงานถึงการเปลี่ยนแปลงไปในเชิงบวกที่ 2.6% และ 1.2% ตามลำดับ
หากเปรียบเทียบแล้ว เมื่อพิจารณาถึงบทบาท CEO ในกลุ่มผู้หญิง สิงคโปร์ (13.1%) และประเทศไทย (11.6%) จัดอยู่ในอันดับที่หนึ่งและสามตามลำดับในกลุ่มประเทศที่ทำการสำรวจ
ผลการวิจัยนี้ตอกย้ำว่า แม้สัดส่วนของผู้หญิงที่เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารผ่านคณะกรรมการบริษัททั่วภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2561 การให้ความสำคัญ และการยอมรับให้ผู้หญิงเข้าดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในคณะกรรมการก็ยังคงแตกต่างกันเป็นอย่างมากตามภูมิภาคต่างๆ
การดำรงตำแหน่งกรรมการของผู้หญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือลดลงในบางแห่ง โดยตัวเลขระยะเวลาการดำรงตำแหน่งโดยเฉลี่ยในสิงคโปร์ลดลงอย่างมาก กล่าวคือ จาก 5.0 ปี ไปเป็น 4.4 ปี สัดส่วนการเปลี่ยนแปลงของวาระการดำรงตำแหน่งก็ลดลงเช่นกันในมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากจำนวนผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อที่เป็นผู้หญิงในประเทศเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้หญิงมีส่วนร่วมในคณะกรรมการโดยรวมเพิ่มขึ้น
“ปี 2565 อาจเป็นปีแห่งโอกาสในการแต่งตั้งผู้หญิงให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริษัทมากขึ้น เนื่องจากองค์กรต่าง ๆ จะต้องทำการประเมินความต้องการของคณะกรรมการของตนซ้ำอีกครั้งให้สอดรับกับแนวทางการดำเนินธุรกิจหลังจากการระบาดใหญ่” Seah Gek Choo ผู้นำ Centre for Corporate Governance ดีลอยท์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
“การผลักดันปัจจัยด้านต่าง ๆ อาทิ ค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันและลักษณะการทำงานที่มีความยืดหยุ่น รวมถึงโปรแกรมให้คำปรึกษาและสนับสนุนสำหรับผู้หญิงนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยเร่งให้ผู้หญิงก้าวขึ้นมามีบทบาทผู้นำมากขึ้น
ที่ดีลอยท์ เราส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นในบทบาทของผู้นำผ่านโครงการ Board-ready Women Program ที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมอยู่ในคณะกรรมการบริษัทมากขึ้น โดยทางองค์กรจะเตรียมความพร้อมให้กับผู้บริหารผู้หญิงซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อเข้ารับตำแหน่งกรรมการ และวางรากฐานสำหรับการเข้าดำรงตำแหน่งแทนกรรมการที่หมดวาระทั้งของบริษัทเอกชนและของรัฐ” Gek Choo กล่าวต่อ
ผลการวิจัยที่สำคัญอื่นๆ ของรายงานเผยให้เห็นความท้าทายที่เพิ่มเติมของผู้หญิงในบอร์ดบริหาร
มีผู้หญิงจำนวนน้อยลงที่เข้าดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการของบริษัทต่างๆ ตัวชี้วัด Stretch Factor ของดีลอยท์ โกลบอล จะตรวจสอบจำนวนที่นั่งของคณะกรรมการในแต่ละตลาด ยิ่ง Stretch Factor นั้นสูงเท่าใด การดำรงตำแหน่งกรรมการของตลาดนั้นๆ ก็จะเป็นบุคคลคนเดียวกันซ้ำๆ มากขึ้นเท่านั้น
ในปี 2564 ที่ผ่านมา Stretch Factor ของผู้หญิงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากตัวเลขปี 2561 ที่ 1.26 ไปเป็น 1.30 อันเป็นการบ่งชี้ว่าเมื่อเทียบกับผู้ชายแล้ว มีกรรมการที่เป็นผู้หญิงจำนวนน้อยที่ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการต่างๆ เมื่อเทียบกันแล้ว ผู้ชายจะมี Stretch Factor ที่ 1.17
ประเทศที่มี Stretch Factor ของผู้หญิงสูงสุด ซึ่งได้แก่ ออสเตรเลีย (1.43) สหรัฐอเมริกา (1.33) และนิวซีแลนด์ (1.32) ต่างก็หลีกเลี่ยงโควตาในการสนับสนุนแนวทางแบบสมัครใจ เช่น เป้าหมายที่ไม่ผูกมัด ในขณะเดียวกัน ประเทศในยุโรปที่นำโควตามาใช้ตั้งแต่ช่วงแรกจะมี Stretch Factor สำหรับกรรมการที่เป็นผู้หญิงต่ำกว่ามาก ซึ่งบางประเทศก็เท่ากับค่า Stretch Factor ของผู้ชายทั่วโลก
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น Stretch Factor ของผู้หญิง อยู่ที่ 1.17 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2561 นั่นหมายความว่า ขณะนี้ผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทในตำแหน่งกรรมการเพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้หลายตำแหน่ง