บริษัท ฮีดากา โยโก เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้นำธุรกิจรีไซเคิลเศษโลหะและอโลหะ และของเสียที่ไม่เป็นอันตรายเดินหน้าต่อยอดสู่เป้าหมาย Net Zero Emissions 2065 ภายในปีพ.ศ. 2608 ภายหลังจากที่ประสบความสำเร็จในการคว้ารางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ระดับ 5 เครือข่ายสีเขียว (GI-5 Green Network) ปี 2565 และได้รับมอบถ้วยรางวัลอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมประกาศเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2588 โดยมุ่งหวังเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อโลกที่น่าอยู่ในอนาคต
นายยาซูโอะ อาทิตย์เรืองสิริ ประธานบริษัท ฮีดากา โยโก เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจรีไซเคิลเศษเหล็ก เศษโลหะและวัสดุทางอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา บริษัทได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ระดับ 5 (GI-5) ประจำปี 2565 หรือ Green Industry Award 2022 โดยรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวมีทั้งหมด 5 ระดับ ซึ่งรางวัลระดับ 5 เครือข่ายสีเขียว เป็นรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวระดับสูงสุด และเป็นรางวัลที่ทุกโรงงานของบริษัทได้รับ ซึ่งบริษัทมีโรงงานอยู่ 6 แห่งในกรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และอยุธยา
“รางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 5 ที่บริษัทได้รับนั้น ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของบริษัท หลังจากที่บริษัทได้เริ่มให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2549 ที่บริษัทได้รับมาตรฐาน ISO 14001 ที่โรงงานที่บ่อวินเป็นโรงงานแรกและขยายมาอีก 5 โรงงานที่เหลือ หลังจากนั้น บริษัทจึงมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพ และได้รับ ISO 9001 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลในเรื่องความเป็นเลิศทางด้านคุณภาพ และความมีประสิทธิภาพของการดำเนินงานภายในองค์กร และ OHSAS 18001 ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็น ISO 45001 โดยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทได้รับ ISO/IEC 27001 มาตรฐานระบบการจัดการความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศเนื่องจากบริษัทเล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้ข้อมูลในการรีไซเคิลซึ่งเป็นเกี่ยวข้องกับลูกค้าที่ใช้บริการ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับระบบความปลอดภัยของข้อมูล ลดความเสี่ยง และปกป้องข้อมูลจากการถูกโจรกรรม และในปีนี้ บริษัทได้รับ ISO 14064-1 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่มีการระบุหลักการและข้อกำหนดระดับองค์กรสำหรับการวัดปริมาณและการรายงานผลการปลดปล่อย และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก รวมถึงข้อกำหนดสำหรับการออกแบบ การพัฒนา การจัดการ การรายงาน และการทวนสอบบัญชีรายการการปลดปล่อย และการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกขององค์กร” คุณยาซูโอะ กล่าว
สำหรับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 5 ที่ได้รับในปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจาก ISO 14001 ที่บริษัทได้รับ ทำให้บริษัทได้อุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 3 ในปี 2554 และบริษัทพัฒนาระบบการจัดการ เข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 4 และได้รับรางวัลดังกล่าวในปี 2560 โดยระดับ 4 เป็นเรื่องวัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) ที่เน้นการใช้วัสดุเขียวและการปลูกจิตสำนึกให้กับพนักงานในบริษัทร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม และระดับ 5 ในปี 2565 ซึ่งเป็นเรื่องเครือข่ายสีเขียว (Green Network) และเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือสู่ความยั่งยืนในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม (Sustainable Development Goals) บริษัทได้เชิญชวนและสนับสนุนให้คู่ค้าและพันธมิตรต่าง ๆ ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ได้ตระหนักในเรื่องอุตสาหกรรมสีเขียว โดยส่งเสริมการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมผ่านการฝึกอบรม การให้ความรู้และเผยแพร่ให้แก่บริษัทอื่น ๆ ที่ต้องการขยายจากอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 3 ไปสู่ระดับ 4 และระดับ 5 อีกด้วย
“ในประเทศไทย บริษัทที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 5 ส่วนใหญ่เป็นบริษัทใหญ่และเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีการดำเนินการเรื่องความยั่งยืนตามแนวทางของตลาดหลักทรัพย์ โดยโรงงานของเราทั้ง 6 แห่งเป็นหนึ่งในนั้น และเป็นบริษัทรีไซเคิลเศษโลหะและอโลหะ เพียงรายเดียวที่ได้รับ การขยับสู่อุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 5 มีความท้าทายมาก เพราะเป็นเรื่องการผลักดันให้บริษัทอื่น ๆ เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งเป็นเรื่องยากหากบริษัทเหล่านั้นไม่ให้ความสำคัญ และอีกหัวข้อที่สำคัญในการได้รับอุตสาหกรรมสีเขียวระดับ 5 คือ การสำรวจความพึงพอใจของชุมชนรอบข้าง ซึ่งเป็นหัวข้อที่ยากมาก เพราะจะต้องได้คะแนนอย่างน้อย 70% ขึ้นไป ซึ่งบริษัทได้คัดบุคลากรและตั้งทีมทำงานด้านนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ และได้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งได้สร้างความภาคภูมิใจให้กับพนักงานทุกคน” นายยาซูโอะ กล่าว
สำหรับเป้าหมายในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าให้ได้รับ ISO 27701 ซึ่งเป็นมาตรฐานการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและเกิดความโปร่งใสระหว่างผู้มีส่วนได้เสีย เนื่องจากวัสดุรีไซเคิลที่เข้าสู่กระบวนการทำงานของบริษัทไม่ได้มาจากโรงงานเท่านั้น แต่ยังมาจากครัวเรือนและผู้บริโภค และจากหน่วยงานภาครัฐบางส่วน โดยเป้าหมายในระยะยาว บริษัทเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2588 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 เพื่อปทางสู่ Net Zero Emissions 2065 เพื่อช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนให้เร็วที่สุด
“เรามุ่งมั่นในการดำเนินกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมขององค์กร เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ บริษัทจึงได้ประกาศนโยบายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เพื่อเป็นแนวทางให้พนักงานและทุกหน่วยงานในองค์กรถือปฏิบัติ โดยใน Scope 1 เราได้ลดการใช้น้ำมันดีเซลสำหรับยานพาหนะต่าง ๆ ลดใช้น้ำมันเบนซินสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า อุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ และรถยนต์ ลดการใช้ก๊าซแอลพีจี และ CO2 ลดการรั่วไหลของก๊าซมีเทนและสารทำความเย็น ซึ่งเราทำได้กว่า 8,027 ตัน ใน Scope 2 ซึ่งเป็นเรื่องการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า เราทำได้ 3,877 ตัน และใน Scope 3 ซึ่งเป็นเรื่องการขนส่งวัตถุดิบในประเทศและระหว่างประเทศ เราทำได้อีก 5,865 ตัน ทำให้ในปีนี้ บริษัทได้รับ ISO 14064-1 ซึ่งเป็นมาตรฐานรับรองการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” นายยาซูโอะ กล่าว
ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียวของกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งอยู่บนแนวคิดความสมัครใจของสถานประกอบการที่ต้องการดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยดำเนินการอย่างเป็นระบบใน 5 ระดับ จากระดับที่ง่ายไปสู่ระดับที่ยาก ได้แก่
ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment)คือ การแสดงความมุ่งมั่นในรูปแบบของนโยบายเป้าหมายและแผนงานที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีการสื่อสารภายในองค์กรให้ทราบโดยทั่วกัน
ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) คือ การดำเนินกิจกรรมตามนโยบาย เป้าหมายและแผนงานที่กำหนดเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและสำเร็จตามความมุ่งมั่นที่ตั้งไว้
ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) คือ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ มีการติดตามประเมินผลและทบทวนเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องหรือการได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมอันเป็นที่ยอมรับ หรือได้รับการรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมต่างๆ
ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) คือ การที่ทุกคนในองค์กรมีจิตสำนึกร่วมกันในการสงวนและรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดีและให้ความร่วมมือร่วมใจในทุกด้านของการประกอบกิจการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและดำเนินการต่างๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร
ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) คือ การขยายขอบเขตของการเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวจากภายในองค์กรเองออกสู่ภายนอก ตลอดโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยสนับสนุนให้คู่ค้าและพันธมิตรเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวด้วย โดยในปี 2565 ที่ผ่านมานี้ มีโรงงานทั่วประเทศได้รับรางวัลดังกล่าวทั้งหมดจำนวน 80 แห่งจากจำนวนโรงงานทั้งหมด 64,018 แห่ง ซึ่งฮีดากาฯ ได้ทั้งหมด 6 โรงงาน ดังนั้นก็เป็น 6 โรงงานใน 80 โรงงาน
“โครงการอุตสาหกรรมสีเขียวมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับผู้ประกอบการทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการผลิตภายในโรงงาน ให้พัฒนาไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรม ทั้งผลิตภัณฑ์และกระบวนการ เพื่อขับเคลื่อนสู่ BCG Model (Bio-Circular-Green) หรือระบบเศรษฐกิจชีวภาพ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และ ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ที่สร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves)” ดร.จุลพงษ์ กล่าว
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมทั้งประเทศประมาณ 373 ล้านตัน โดยภาคธุรกิจที่ปล่อยมากที่สุด คือ ภาคพลังงาน รองลงมา คือ ภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นระดับองค์กรผู้ผลิตที่มีการปล่อยมากที่สุด การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งส่งผลต่อโลกมากกว่ามลพิษต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางน้ำ ทางอากาศ และขยะ เนื่องจากก๊าซเรือนกระจกส่งผลให้เกิดความร้อนบนผิวโลกมากขึ้น เกิดไฟไหม้ป่า ภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร อุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อภาคการประมง ตลอดจนก่อให้เกิดภัยพิบัติทางพายุ น้ำทะเลที่สูงขึ้นจากน้ำแข็งขั้วโลกละลายกระทบต่อหมู่เกาะต่าง ๆ ก๊าซเรือนกระจกจะถูกสะสมบนท้องฟ้าในก้อนเมฆที่ระดับความสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 10 กิโลเมตร ซึ่งที่สำคัญที่สุด คือ คาร์บอนไดออกไซด์ แม้จะไม่ใช่เป็นก๊าซพิษ แต่เป็นก๊าซที่เกิดจากลมหายใจ จากการเผาไหม้ จากการทำอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น การผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นผลพวงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้มีก๊าซเรือนกระจกสะสมแล้วกว่า 2.4 ล้านล้านตันทั่วโลก
“ถึงเวลาแล้วที่องค์กรธุรกิจต่าง ๆ ควรใส่ใจและมุ่งมั่นลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเรื่องความยั่งยืน เราต้องคืนสิ่งดี ๆ ให้กับสังคม คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อโลกของเรา เมื่อโลกยั่งยืนและอยู่ได้ ธุรกิจของเราก็จะยั่งยืนและอยู่ได้เช่นกัน จากการที่ได้พูดคุยกับผู้บริหารของบริษัท ฮีดากา โยโก เอ็นเตอร์ไพรส์ ทราบว่า บริษัทได้ดำเนินการในเรื่องนี้มานาน ซึ่งอาจจะมองดูว่าเป็นสโคปเล็ก ๆ แต่ก็มีความหมาย เพราะกิจกรรมต่าง ๆ ในกระบวนรีไซเคิลล้วนส่งผลกระทบทั้งสิ้น การลดคาร์บอน ฟุตปรินท์ที่บริษัทดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าหรือการเลือกใช้ไฟฟ้าที่มาจากพลังงานสะอาด รวมทั้ง การวางเป้าหมาย Net Zero Emissions ภายในปี พ.ศ. 2608 เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและยกย่อง” เกียรติชาย กล่าว
นายประวาลทอง ทองใหญ่ ณ อยุธยา ผู้จัดการฝ่ายรับรองระบบมาตรฐานฯ ในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง บริษัท บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การได้รับ ISO 14064-1 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลในเรื่องความเป็นเลิศทางด้านคุณภาพ ถือเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมเป็นอย่างมาก เนื่องจาก มาตรฐาน ISO 14064-1 ถือเป็นเครื่องหมายยืนยันว่าองค์กรมีความรับผิดชอบต่อสังคม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีส่วนร่วมขานรับนโยบายระดับชาติในการลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเพื่อเป็นการช่วยโลก
สำหรับบริษัท ฮีดากา โยโก เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2471 โดย มร. โตชิโอะ ฮีดากา และเริ่มดำเนินธุรกิจด้วยการรับซื้อของเก่าและส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ตลอดระยะเวลากว่า 95 ปี บริษัทได้เปิดรับซื้อ ประมูลและจำหน่าย ทั้งค้าปลีกและค้าส่งเศษโลหะประเภทอลูมิเนียม ทองแดง ทองเหลือง สแตนเลส และโลหะอื่น ๆ ซึ่งเป็นวัสดุทางอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว พร้อมทั้งนำเข้าและส่งออกเศษวัสดุดังกล่าวไปยังประเทศญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ปัจจุบัน บริษัทมีทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาทและมีพนักงานทั้งหมดกว่า 750 คน มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่บริเวณถนนบางนา-ตราด กม. 25 และมีโรงงานอีก 6 แห่ง ตั้งอยู่ย่านสำโรง เกตเวย์ บ่อวิน มาบตาพุด อยุธยา และพานทอ www.hidakayookoo.co.th Facebook hidakayookoo