เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวแทนจากพันธมิตรสถาบันการศึกษาทั่วโลกได้เข้าร่วมการประชุมแบบบูรณาการของโครงการ Alibaba Global Digital Talent (GDT) ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการศึกษาด้านเศรษฐกิจดิจิทัลทั่วโลก สำหรับงาน GDT ครั้งนี้ ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดโรคระบาด ภายในงานประชุมยังได้จัดแสดงแหล่งเรียนรู้และผลงานความสำเร็จล่าสุดของโครงการ GDT ในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและการบ่มเพาะผู้มีความสามารถพิเศษสำหรับรองรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลทั่วโลกและการพัฒนาที่ครอบคลุม ในขณะเดียวกัน ก็ยังเป็นการเปิดพื้นที่แสดงผลงานจากสถาบันชั้นนำ อาจารย์ และ นักศึกษาในเครือข่ายของโครงการด้วย 

เปิดกว้างสำหรับมหาวิทยาลัยและสถาบันการเรียนรู้ต่าง ๆ ทั่วโลก GDT คือหลักสูตรฝึกอบรมเรือธงภายใต้แพลตฟอร์มการค้าอิเล็กทรอนิกส์แบบหลายฝ่าย (eWTP) ที่บุกเบิกโดยอาลีบาบา กรุ๊ป (Alibaba Group) ซึ่งมุ่งมั่นสร้างการเข้าถึงโอกาสการค้าข้ามพรมแดนอย่างเท่าเทียมกันสำหรับเยาวชน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และผู้หญิงทั่วโลก  นอกจากนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามบ่มเพาะผู้มีความสามารถของอาลีบาบา เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ครอบคลุมในเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไป

ด้วยการมอบโอกาสในการฝึกอบรมแก่อาจารย์และการสร้างเครือข่ายแก่สถาบันการศึกษา โครงการ GDT ได้บ่มเพาะผู้ฝึกอบรมที่มีคุณสมบัติเหมาะสมของสถาบันเอง เพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้มีความสามารถด้านดิจิทัลรุ่นต่อไปในตลาดของตน ตามกรอบหลักสูตรที่ครอบคลุมองค์ประกอบต่าง ๆ ด้านดิจิทัล เช่น การค้าปลีกรูปแบบใหม่ โลจิสติกส์อัจฉริยะ การตลาดดิจิทัล การลงทุน ตลอดจนการจัดหาเงินทุนแก่สตาร์ทอัพ โดยโครงการฝึกอบรมนี้ได้ใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของจีน รวมทั้งดึงทรัพยากรและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในระบบนิเวศของอาลีบาบามาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ นอกจากนี้ GDT ยังสนับสนุนสถาบันต่าง ๆ ในเครือข่ายด้วยแพลตฟอร์มการฝึกอบรม การวัดผลประเมินผลนักศึกษา ตลอดจนให้การรับรองแก่นักศึกษาด้วย

สำหรับในประเทศไทย GDT ได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ในการปลูกฝังแนวคิดและทักษะที่จำเป็นแก่นักศึกษาในท้องถิ่น เพื่อปูทางสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไป

“ต้นทุนมนุษย์ คือ กุญแจสำคัญที่ทำให้กระบวนการดิจิทัล (digitalization) แพร่หลายมากขึ้นในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โครงการGDT ของอาลีบาบาช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษาทั่วโลกสามารถนำตรรกะพื้นฐานของโมเดลธุรกิจที่ผ่านการทดสอบตามเวลาของอาลีบาบามาใช้กับภูมิทัศน์ธุรกิจชุมชน เพื่อส่งเสริมและขยายความคิดริเริ่มด้านการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในท้องถิ่น” เจมส์ ซอง เลขาธิการสำนักงานโลกาภิวัฒน์ของอาลีบาบา และเลขาธิการ eWTP กล่าว

“ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โครงการริเริ่ม GDT ได้สร้างอาจารย์ 1,400 คนและนักศึกษาหลายหมื่นคนจากมหาวิทยาลัยและสถาบันฝึกอบรม 30 แห่งทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในท้องถิ่นที่เกิดขึ้นจากโครงการ GDT คือแรงผลักดันในการทำงานของเรา และเราก็หวังว่าจะได้ร่วมงานอย่างใกล้ชิดมากขึ้นกับพันธมิตรที่มีแรงบันดาลใจเหมือนกัน เพื่อมุ่งหน้าขับเคลื่อนการบ่มเพาะบุคคลผู้มีความสามารถรุ่นใหม่สำหรับรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเฟื่องฟูทั่วโลก” ซอง กล่าวเสริม

ในระหว่างงานประชุม ทาง GDT ยังได้ลงนามข้อตกลงกับ INTI International University & Colleges จากมาเลเซีย และ NTUC LearningHub Pte Ltd จากสิงคโปร์ ซึ่งแสดงถึงการขยายเครือข่ายพันธมิตรของ GDT และผสานความร่วมมือของทั้งสององค์กรในการพัฒนาผู้มีความสามารถด้านดิจิทัลในท้องถิ่น

ภายในงานยังมีพิธีมอบรางวัลยกย่องสถาบันพันธมิตร อาจารย์ และนักศึกษาที่มีความเป็นเลิศ ที่ได้สร้างแบบอย่างของนวัตกรรมและการมีส่วนร่วมในโครงการ GDT

ซึ่งหนึ่งในพันธมิตรสถาบันที่ได้รับการยอมรับคือ Universiti Tunku Abdul Rahman (UTAR) จากประเทศมาเลเซีย ซึ่งคว้าสองรางวัลด้านความเป็นเลิศทางวิชาการและผลกระทบทางสังคม โดยนับตั้งแต่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับ GDT  ในปี 2560 – เป็นรายแรกในมาเลเซีย อาจารย์กว่า 100 คนจาก UTAR ได้รับการรับรองโดย GDT ขณะที่นักศึกษาอีกเกือบ 3,900 คนได้นำทักษะความรู้ด้านดิจิทัลจากการฝึกอบรมของโครงการ GDT ตั้งแต่โลจิสติกส์ไปจนถึงการตลาด ไปปรับใช้ นอกจากนี้ กลุ่มอาจารย์และนักศึกษาจาก UTAR ยังเปิดตัวโครงการชุมชนอีคอมเมิร์ซ New Village ในชื่อ “We Care, We Act” ซึ่งนักศึกษาได้เข้าไปทำกิจกรรมส่งเสริมการค้าออนไลน์แก่ผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นกว่า 30 รายการ ตั้งแต่บิสกิตไก่ไปจนถึงซอสถั่วเหลือง ที่ผลิตโดยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมจากทั้งสี่รัฐของมาเลเซีย ความคิดริเริ่มนี้ยังทำให้ผู้บริโภคทั่วประเทศและแม้แต่ในต่างประเทศ สามารถเข้าถึงเมนูอาหารขึ้นชื่อของ New Village ซึ่งเดิมทีมีให้บริการแค่แบบออฟไลน์เท่านั้น

สำหรับในปีหน้า โครงการ GDT ตั้งเป้าฝึกอบรมอาจารย์จากมหาวิทยาลัย 400 คน ซึ่งมีศักยภาพในการถ่ายทอดความรู้แก่นักศึกษาในท้องถิ่นถึง 10,000 คนทั่วโลก นอกจากนี้ ทางโครงการยังเตรียมเดินหน้าสานความร่วมมือกับรัฐบาลและสถาบันการศึกษาทั่วภูมิภาคในการบ่มเพาะผู้มีความสามารถด้านดิจิทัล และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในชนบท โดยจะใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ในการจัดตั้งหมู่บ้านดิจิทัลแปดแห่งในเม็กซิโกร่วมกับโรงเรียนในท้องถิ่น เพื่อเผยแพร่แนวคิดความครอบคลุมในสังคม (Inclusiveness) จากโปรเจกต์แม่บท Taobao Villages[1] ในจีน ให้เป็นที่รู้จักในประชาคมโลก สำหรับในอนาคตอันใกล้ โครงการ GDT คาดว่าจะกลับมาดำเนินการฝึกอบรมและทำกิจกรรมแบบออฟไลน์อีกครั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เข้ารับการฝึกอบรม

นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 2560 โครงการ Alibaba GDT ได้มีการดำเนินงานแล้วในทวีปเอเชีย ละตินอเมริกา แอฟริกา และโอเชียเนีย โดยปัจจุบัน โครงการสามารถเข้าถึงหลายประเทศทั่วโลก อย่างในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เวียดนาม ปากีสถาน มองโกเลีย และออสเตรเลีย ในละตินอเมริกา ได้แก่ เม็กซิโก โคลอมเบีย และโบลิเวีย ในแอฟริกา ได้แก่ รวันดา ตูนิเซีย และเอธิโอเปีย รวมถึงในประเทศคาซัคสถานซึ่งอยู่ในเอเชียกลาง

[1] ในประเทศจีน Taobao Village คือกลุ่มของผู้ค้าปลีกอิเล็กทรอนิกส์ในชนบทภายในเขตบริหารหมู่บ้าน ซึ่งผู้อยู่อาศัยสามารถเริ่มต้นธุรกิจครั้งแรกได้ผ่านระบบอีคอมเมิร์ซของเถาเป่า (Taobao) แพลตฟอร์มค้าปลีกดิจิทัลของอาลีบาบาเป็นหลัก

https://www.kaosanonline.com/?p=25361 

By admin

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *