การศึกษาใหม่โดยดีลอยท์ คอนซัลติ้ง (“ดีลอยท์”) ชี้ว่า Private Debt นั้นมีความสามารถในการช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนเงินทุน (Financing Gap) ของภาคธุรกิจในประเทศไทย และตอบโจทย์ความต้องการด้านการลงทุนของนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ในประเทศ ในการศึกษานี้ทาง ดีลอยท์ ยังได้ทำการศึกษาตลาด Private Debt ในประเทศต่างๆ และนำเสนอแนวทางการพัฒนากฎเกณฑ์ และแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถช่วยส่งเสริมการพัฒนาตลาด Private Debt ในประเทศไทยได้อีกด้วย

ตัวอย่างของแนวทางการพัฒนากฎเกณฑ์ที่สามารถช่วยส่งเสริมการพัฒนาตลาด Private Debt ในประเทศไทย ได้แก่

  • การปรับปรุงและแก้ไขกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ Private Debt ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อทำให้เกิดความชัดเจนแก่ผู้ประกอบการภายในประเทศที่ต้องการจัดตั้งกองทุน Private Debt ด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่ากองทุน Private Debt สามารถจัดตั้งขึ้นเพื่อระดมทุนจากนักลงทุนและทำการให้กู้ได้
  • การปรับปรุงและแก้ไขกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับประเภทของนักลงทุนที่ได้รับอนุญาตให้ลงทุนใน Private Debt ให้มีความชัดเจนและเปิดกว้างมากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนหลากหลายประเภทได้มีโอกาสลงทุนใน Private Debt
  • การปรับปรุงและพัฒนาขั้นตอนการพิจารณคดีที่เกี่ยวข้องกับการชำระหนี้ให้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างแนวทางการปรับปรุงได้แก่ การกำหนดระยะเวลาในการพิจารณคดีที่ชัดเจน การส่งเสริมและเพิ่มอำนาจการระงับข้อพิพาททางเลือกนอกศาล เป็นต้น

“เนื่องจากประเทศไทยในปัจจุบันยังไม่มีข้อกำหนด หรือ แนวทางการกำกับดูแลอย่างชัดเจน ผู้ประกอบการในประเทศที่ต้องการจัดตั้งกองทุน Private Debt เพื่อระดมทุนจากนักลงทุนและให้กู้แก่บุคคลอื่นจึงเผชิญกับความไม่แน่นอนถึงขอบเขตของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทำให้การจัดตั้ง Private Debt ในรูปแบบของกองทุนในประเทศ (Local Fund) นั้นยังไม่มีความชัดเจนเท่าไหรนัก ในแง่ของกองทุน Private Debt จากต่างประเทศ (International Fund) เองก็ยังมีความกังวลที่จะให้กู้แก่บริษัทในประเทศไทย เนื่องด้วยการผิดนัดชำระหนี้มักจะเป็นคดีความที่อาจใช้ระยะเวลายาวนานหลายปีในการบังคับคดี” ดร.เมธินี จงสฤษดิ์หวัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าว “นอกจากนี้ นักลงทุนสถาบัน (Institutional Investor) จำนวนมากในประเทศไทย ยังไม่ได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลของตนให้ลงทุนใน Private Debt”

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยนั้น ธนาคารถือว่าเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่มีความสำคัญในตลาดสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ในประเทศไทย แต่ธนาคารนั้นยังคงไม่สามารถตอบโจทย์หรือเข้าถึงลูกค้าบางกลุ่มได้ แม้ว่าในประเทศไทยจะมีผู้ให้บริการสินเชื่อทางเลือกรายอื่นในตลาด ผู้ให้บริการเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถที่จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนเงินทุน (Financing Gap) ของลูกค้าในประเทศได้อย่างสมบูรณ์นัก

“ในช่วงที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าในประเทศไทยนั้นจะมีการถือกำเนิดขึ้นของผู้ให้บริการกู้ยืมเงินออนไลน์ (Digital Lending Platform) ผู้ให้บริการเหล่านี้มักจะปล่อยเงินกู้ในวงเงินที่ต่ำ ในขณะเดียวกัน กองทุน Private Debt จากต่างประเทศ (International Fund) ที่เริ่มเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยนั้นก็มักจะปล่อยเงินกู้ในวงเงินที่สูง และเน้นตอบสนองความต้องการของบริษัทขนาดใหญ่ ส่งผลให้เกิดเกิดช่องว่างในตลาดจากบริษัทขนาดกลางที่มีความต้องการเงินทุนระหว่าง 10 – 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดที่ ผู้ให้บริการกู้ยืมเงินออนไลน์ (Digital Lending Platform) และ กองทุน Private Debt จากต่างประเทศ (International Fund) ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้กู้กลุ่มนี้ได้” ดร.เมธินี กล่าว “Private Debt ในรูปแบบของกองทุนในประเทศ (Local Fund) สามารถที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่างในตลาดตรงนี้ได้”

สำหรับผู้กู้แล้ว ประโยชน์ของการใช้งาน Private Debt ได้แก่ เงื่อนไขในการกู้ยืมที่สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจ ระยะเวลาในการชำระเงินคืนที่ยาวนานกว่าปกติ ความรวดเร็วในการพิจารณาปล่อยเงินกู้โดยผู้ให้กู้ ความรวดเร็วในการได้รับเงินกู้ และหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการปล่อยกู้ที่มีความยืดหยุ่นมากกว่าธนาคาร เป็นต้น

  

สำหรับนักลงทุน ประโยชน์ของการลงทุนใน Private Debt ได้แก่ การกระจายความเสี่ยงการลงทุน (Portfolio Diversification) อัตราผลตอบแทนเมื่อเปรียบเทียบกับระดับความเสี่ยงที่สูงขึ้น (Risk-adjusted Returns) ซึ่งแลกมาด้วยสภาพคล่องที่ลดลง (หรือที่เรียกว่าผลตอบแทนจากการขาดสภาพคล่อง) อัตราผลตอบแทนที่มั่นคงและสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า และความผันผวนด้านราคาที่น้อยกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น

“ในด้านอุปสงค์ ผู้กู้มีความต้องการผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการระบาดของโรค COVID-19 ส่วนในด้านอุปทาน นักลงทุนเองก็มองหาอัตราผลตอบแทนเมื่อเปรียบเทียบกับระดับความเสี่ยงที่สูงขึ้น (Risk-adjusted Returns) สาเหตุส่วนหนึ่งที่ Private Debt ได้รับความนิยมและเติบโตขึ้นทั่วโลกเป็นเพราะ Private Debt สามารถตอบสนองความต้องการของผู้กู้และนักลงทุนได้” เคนเนท เทย์ ผู้อำนวยการ บริษัท ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าว

“Private Debt นั้นมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศในทวีปยุโรป อีกทั้งยังเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มประเทศในทวีปเอเชีย อย่างไรก็ตาม ตลาด Private Debt ในประเทศไทยยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นและยังมีขนาดเล็ก โดยเฉพาะเมื่อเราพูดถึง Private Debt ในรูปแบบที่ถูกจัดการโดยผู้จัดการกองทุน ภายใต้โครงสร้าง GP/LP” จอร์จ เกา ผู้จัดการ บริษัท ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าว

ผลการศึกษานี้อ้างอิงข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาด Private Debt ไม่ว่าจะเป็น กองทุน Private Debt (Private Debt Fund) นักลงทุนสถาบัน ผู้กู้ และหน่วยงานกำกับดูแลมากกว่า 20 ราย ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมไปถึงอ้างอิงผลการวิจัยจากสถาบันต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

ในแง่ของวัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้นั้น ดีลอยท์จัดทำการศึกษานี้เพื่อทำความเข้าใจถึงโอกาสและความท้าทายในการพัฒนาตลาด Private Debt (ซึ่งหมายถึงการให้เงินกู้โดยผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคารในภาคเอกชน) ในประเทศไทย เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนเงินทุน (Financing Gap) ของภาคธุรกิจ และตอบโจทย์ความต้องการด้านการลงทุนของนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ สำหรับการศึกษานี้ ดีลอยท์ได้เน้นการศึกษาไปที่ Private Debt ในรูปแบบที่ถูกจัดการโดยผู้จัดการกองทุน หรือที่เรียกว่า กองทุน Private Debt (Private Debt Fund) ซึ่งผู้เกี่ยวข้องกับกองทุน Private Debt ประกอบไปด้วย Limited Partner (LPs) หมายถึงนักลงทุนประเภทต่างๆ และ General Partner (GPs) หมายถึง ตัวกองทุนซึ่งทำหน้าที่ระดมทุนจากนักลงทุน (LPs) และนำเงินเหล่านั้นไปให้กู้ในลำดับต่อไป

ความท้าทายที่สำคัญในการพัฒนาตลาด Private Debt ในประเทศไทยตามที่ระบุไว้ในรายงาน ได้แก่ ข้อจำกัดทางด้านกฎเกณฑ์ที่ส่งผลต่อการพัฒนาตลาด Private Debt ในประเทศไทย ความพร้อมของตลาดและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนในไทยจำนวนมากรวมไปถึงหน่วยงานกำกับดูแลการลงทุนในประเทศไทยยังไม่ทราบถึงสินทรัพย์ในกลุ่ม Private Debt และบทบาทของ Private Debt ในการช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุน) และ ความไม่สมมาตรของข้อมูลซึ่งเกิดมาจากการที่ผู้ให้บริการสินเชื่อทางเลือกนั้นประสบปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลของกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และบริษัทที่ไม่ได้ทำการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

“ประเทศไทยสามารถที่จะเรียนรู้และถอดบทเรียนจากตลาดในต่างประเทศถึงวิธีการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของ Private Debt หรือในรูปแบบผลิตภัณฑ์ทางเลือกอื่นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปและมีความซับซ้อนยิ่งขึ้นของกลุ่มธุรกิจและนักลงทุน” ดร.เมธินี กล่าว

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://www2.deloitte.com/sg/en/pages/human-capital/articles/private-debt-feasibility-study.html?nc=42

By admin

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *