2022 CxO Sustatinability Report: The Disconnect Between Ambition and Impact ของดีลอยท์ที่เผยแพร่ในเดือนมกราคมที่ผ่านมาเผยว่า ผู้บริหารระดับซี ทั่วโลก (หรือ CxO) มีความกังวลในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มมากขึ้น และมองว่าโลกมาถึงจุดที่ต้องลงมือทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 89% ของ CxO ทั่วโลกเห็นด้วยว่า โลกของเรากำลังเผชิญกับวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ และ 63% ชี้ว่า องค์กรของพวกเขามีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นนี้เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม พวกเขายังพบความยากลำบากในการผนวกแนวคิดด้านความยั่งยืนเข้าไปในกลยุทธ์ การดำเนินงาน และวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นแก่นสำคัญของธุรกิจ
เพราะเข้าใจถึงความสำคัญเรื่องความยั่งยืนที่เพิ่มมากขึ้นและภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ดีลอยท์ได้ต่อยอดงานวิจัยที่ผ่านมาโดยเปิดโอกาสให้ CxO มากกว่า 2,000 ราย จาก 21 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมทำแบบสอบถาม
เพื่อศึกษาถึงความกังวลและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงแนวคิดด้านความยั่งยืนของผู้บริหารกลุ่มนี้ นอกจากนั้น รายงานยังศึกษาถึงความไม่เชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายขององค์กรกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ตลอดจนสิ่งที่ผู้นำระดับสูงทั้งหลายเลือกที่จะทำเพื่อปิดช่องโหว่เหล่านั้น
“การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่ทางเลือกเดียว แต่ยังมีทางเลือกอีกนับพันล้านอย่าง” พูนิต เรนเจน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีลอยท์ โกลบอล กล่าว “การลงมือแก้ไข ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ล้วนสำคัญ ทว่า การดำเนินการและการตัดสินใจบางอย่างอาจ “สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้” ได้มากกว่าอย่างอื่นๆ และ การลงมือทำด้วยความมุ่งมั่นและจริงจังของผู้นำองค์ธุรกิจต่างๆ เป็นเรื่องที่จำเป็นและเร่งด่วน เรายังพอมีเวลาในการลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ถึงเวลาแล้วที่เราจะพิสูจน์ว่า เราพร้อมเผชิญกับความท้าทายครั้งนี้”
“ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังตกอยู่ในสภาวะเปราะบางต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าที่เคย และตอนนี้ก็เป็นเวลาที่เราจะต้องลงมือแก้ปัญหา” เกียม ไอ ลีน ผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน ดีลอยท์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
“กฎหมายเกี่ยวกับสภาพอากาศฉบับล่าสุดที่รัฐบาลต่างๆ ในภูมิภาคนี้นำมาใช้ มีส่วนสำคัญในการผลักดันประเด็นดังกล่าวให้เป็นวาระสำคัญในการบริหารงานของ CxO ซึ่งแนวโน้มเช่นนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดี เนื่องจาก CxO มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ นำพาองค์กรให้ผ่านพ้นอุปสรรคด้านสภาพอากาศ และรับมือกับแรงกดดันจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เห็นได้ชัดว่า องค์กรที่มีวิสัยทัศน์ก้าวไกลและผสานรวมกลยุทธ์ทางด้านสภาพอากาศที่ดีไว้ในนโยบายนั้น ไม่เพียงแต่จะสามารถรอดพ้นจากผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างชื่อเสียงในฐานะผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลังในสังคมให้กับองค์กร”
ความกังวลและการคาดหวังในผลลัพธ์: ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ผู้บริหารรู้สึกกังวลกันเป็นอย่างมาก CxO ส่วนใหญ่ (79%) เชื่อว่าโลกอยู่ในจุดเปลี่ยน เมื่อเป็นเรื่องของการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนับเป็นคะแนนที่เพิ่มขึ้นกว่า 20% เทียบกับการสำรวจของดีลอยท์ เมื่อแปดเดือนก่อน ตอกย้ำถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของการลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้ ยิ่งไปกว่านั้น 88% ของ CxO ยังคาดหวังว่าการลงมือทำโดยทันทีจะช่วยจำกัดผลกระทบที่เลวร้ายต่อโลกไว้ได้ ซึ่งนับว่าสูงกว่าเมื่อแปดเดือนก่อนที่ 63% แม้จะมีความกังวลเกิดขึ้น แต่ก็ยังมีแง่มุมดีๆ ที่ซ่อนอยู่ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าผู้นำต่างตระหนักดีถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการกันมากขึ้น
ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า CxO ต้องแบกรับแรงกดดันจากหลายระดับ
ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบทั้งหมด (97%) ระบุว่า องค์กรของตนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประมาณครึ่งหนึ่งกล่าวว่า การดำเนินงานของพวกเขาก็ได้รับผลกระทบ (เช่น การหยุดชะงักของรูปแบบการทำธุรกิจและเครือข่ายอุปทานทั่วโลก)
81% ของ CxO ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นกับตนเอง (เช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้น พายุที่รุนแรงขึ้น ไฟป่า) ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
นอกจากนี้ กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งได้แก่ หน่วยงานกำกับดูแล ผู้ถือหุ้น ผู้บริโภค และพนักงาน ต่างก็เพิ่มแรงกดดันให้เร่งดำเนินการ
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว หรือกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ แต่ได้เกิดขึ้นแล้วและหนทางที่เราเลือกเดินในวันนี้ จะเป็นตัวกำหนดคุณภาพชีวิตของคนรุ่นต่อ ๆ ไป” เจนนิเฟอร์ สไตน์มันน์ ผู้นำด้านสภาพอากาศและความยั่งยืน ดีลอยท์ โกลบอล กล่าว “อนาคตที่ดีกว่าเดิมขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติและพฤติกรรมในเชิงลึกและยั่งยืนของรัฐบาล ธุรกิจ และกลุ่มบุคคล ชุมชนธุรกิจสามารถช่วยสร้างการทำงานร่วมกันรูปแบบใหม่ ซึ่งให้ความสำคัญกับแนวคิดมากกว่าตัวบุคคลหรือองค์กรเจ้าของแนวคิด รวมถึงหาหนทางที่แปลกใหม่และยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลดีที่สุดแก่พวกเขา ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และชุมชน”
ช่องโหว่ระหว่างเป้าหมาย การลงมือ และผลกระทบ
องค์กรต่าง ๆ กำลังดำเนินการ: สองในสามของ CxO กล่าวว่าองค์กรของพวกเขาหันมาใช้วัสดุที่ยั่งยืนมากขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน โดยมากกว่าครึ่งเลือกใช้เครื่องจักร เทคโนโลยี และอุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงานหรือเป็นมิตรกับสภาพอากาศ และส่วนใหญ่มุ่งมั่นที่จะลดการเดินทางโดยเครื่องบิน พร้อมกับเล็งเห็นความสำคัญในการฝึกอบรมพนักงานเกี่ยวกับการรับมือและผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
อย่างไรก็ตาม องค์กรต่างๆ ยังไม่ค่อยมีการดำเนินการที่แสดงให้เห็นว่า พวกเขาได้ปลูกฝังแนวคิดเกี่ยวกับสภาพอากาศไว้ในวัฒนธรรมองค์กร และมีการเห็นชอบจากผู้บริหารระดับสูง ที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันเป็นที่ประจักษ์ แม้ว่าการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนทั้งหมดมีความสำคัญ แต่การวิเคราะห์รายงานของดีลอยท์ก็ได้ระบุถึงสิ่ง “ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้” ไว้ห้าประการ โดยเฉพาะเมื่อทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ควบคู่กันไป ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ทางธุรกิจที่ได้จากความยั่งยืนอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ได้แก่
- การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศ
- กำหนดให้ผู้ผลิตและคู่ค้าทางธุรกิจมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดในแง่ของความยั่งยืน
- การยกระดับหรือการย้ายที่ตั้งโรงงานเพื่อให้มีความคงทนต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
- ผนวกรวมแนวคิดเกี่ยวกับสภาพอากาศเข้าในการล็อบบี้และการบริจาคทางการเมือง และ
- กำหนดค่าตอบแทนผู้บริหารระดับสูงตามผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน
เมื่อเทียบกับการดำเนินการด้านสภาพอากาศอื่นๆ มีโอกาสน้อยมากที่องค์กรต่างๆ จะดำเนินการครบทั้งห้าข้อนี้ และมากกว่าหนึ่งในสามขององค์กรที่ตอบแบบสอบถามเพิ่งทำไปเพียงแค่ข้อเดียวเท่านั้น ในขณะที่ความกังวลต่อสิ่งแวดล้อมและความคาดหวังต่อการเปลี่ยนแปลงยังเป็นประเด็นสำคัญ องค์กรต่างๆ จำเป็นจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดและลงมือทำอย่างเด็ดขาดมากขึ้น เพื่อจำกัดผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเอาไว้
CxO เลือกการรับรู้และชื่อเสียงของแบรนด์ ความพึงพอใจของลูกค้า ขวัญกำลังใจและสวัสดิภาพของพนักงานเป็นสามในสี่ผลประโยชน์สูงสุดที่ได้รับจากการทุ่มเทเพื่อความยั่งยืนขององค์กร ซึ่งชี้ให้เห็นว่า CxO จำนวนมากมองว่า การดำเนินการด้านสภาพอากาศนั้นเป็นประโยชน์ต่อความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสีย โดยผลประโยชน์ที่อยู่ในอันดับต่ำที่สุด (รายได้จากทั้งธุรกิจที่ดำเนินการมาอย่างยาวนานและธุรกิจใหม่ มูลค่าสินทรัพย์ ต้นทุนการลงทุน และอัตรากำไรจากการดำเนินงาน) ชี้ให้เห็นว่า CxO ยังคงต้องดิ้นรนกับต้นทุนระยะสั้นในการเปลี่ยนไปสู่อนาคตคาร์บอนต่ำ
บทเรียนจากผู้นำด้านความยั่งยืน
การสำรวจของดีลอยท์เผยให้เห็นว่า กลุ่มผู้นำ คิดเป็น 19% ของกลุ่มตัวอย่าง จากองค์กรที่เป็นต้นแบบในการจัดการกับความยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลไปพร้อม ๆ กัน องค์กรชั้นนำเหล่านี้ดำเนินการตามแนวทางความยั่งยืน “ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลก” อย่างน้อยสี่ในห้าข้อข้างต้น เมื่อเทียบกับองค์กรที่ดำเนินการไปแค่เพียงอย่างเดียว หรือคิดเป็น 35% ของทั้งหมด (เกือบสองเท่าของผู้บริหารกลุ่มแรก) โดยผู้บริหารจากองค์กรต้นแบบ
- มีความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่า (74% เทียบกับ 52%)
- คาดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีผลกระทบอย่างสูงต่อกลยุทธ์ทางธุรกิจในปีต่อๆ ไป (73% เทียบกับ 50%)
- วางแผนในการปล่อยมลพิษให้เป็นศูนย์ภายในปี 2573 (82% เทียบกับ 50%)
- ไม่ค่อยมองว่าต้นทุนเป็นอุปสรรคต่อความทุ่มเทในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งบ่งชี้ว่าพวกเขาอาจมีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียไปจากการไม่ลงมือทำ และได้รับการอนุมัติจากทางผู้บริหารมากกว่า
- มีแนวโน้มที่จะเข้าใจโอกาสทางธุรกิจจากความยั่งยืนในแง่ของผลกำไร ความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผลการปฏิบัติงานโดยทั่วไปในวงกว้างกว่า
“ทุกธุรกิจไม่ได้ดำเนินการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศไปอยู่ในจุดเดียวกัน แต่ในไม่ช้าทุกองค์กรจะต้องเปลี่ยนจากการตั้งคำถามว่า “ทำไมต้องทำ” ไปเป็น “จะต้องทำอย่างไร” ด้วยการใช้แนวทางที่ตรงกับความต้องการของแต่ละองค์กร” พูนิต เรนเจนกล่าว “ทั้งนี้ การกระทำทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นสิ่งสำคัญของการเป็นผู้นำ เนื่องจากพวกเขาจำเป็นต้องมีกรอบความคิดที่เล็งเห็นถึงทั้งความเสี่ยงของการเพิกเฉยและโอกาสของความยั่งยืน วัฒนธรรมองค์กรที่ปลูกฝังด้านสภาพอากาศลงในกลยุทธ์ทางธุรกิจโดยตรง มีการเห็นชอบจากผู้บริหารระดับสูง และความสามารถในการส่งอิทธิพลต่อบุคคลภายนอก ซึ่งรวมไปถึงพันธมิตรทางธุรกิจ รัฐบาล และหน่วยงานกำกับดูแล”
ท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานความยั่งยืน CxO ปี 2565 ของดีลอยท์ได้ที่เว็บไซต์ของดีลอยท์
ระเบียบวิธีในการทำแบบสำรวจ
รายงานนี้นำข้อมูลมาจากการสำรวจผู้บริหารระดับซีจำนวน 2,083 ราย ซึ่งดำเนินการโดย KS&R Inc. และดีลอยท์ ระหว่างเดือนกันยายนและตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา แบบสอบถามได้สำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารจาก 21 ประเทศ แบ่งออกเป็น 44% จากภูมิภาคยุโรป/แอฟริกาใต้ 31% จากภูมิภาคอเมริกา และ 24% จากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยครอบคลุมภาคอุตสาหกรรมหลักทั้งหมด นอกจากนี้ KS&R และดีลอยท์ ยังได้ดำเนินการสัมภาษณ์แบบรายบุคคลกับผู้บริหารในอุตสาหกรรมระดับโลกอีกด้วย