มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ชวนเที่ยวงาน ‘มหัศจรรย์ดาหลา’ ป่าอาหารสำหรับเมือง ร่วมเรียนรู้การปลูกพืชหลากสายพันธุ์สร้างความหลากหลายทางชีวภาพในสวนยาง และรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากเกษตรกรตัวจริง พร้อมแจกสูตรเมนูอาหาร—ขนม-เครื่องดื่ม Kombucha จากดอกดาหลา โดยเชฟชื่อดัง
คุณสุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน เตรียมจัดงาน ‘มหัศจรรย์ดาหลา’ ป่าอาหารสำหรับเมือง ในวันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม 2566 เวลา 10.00 – 16.00 น.ณ สวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย) โดยมีกิจกรรมมากมายเพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถเรียนรู้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่างเช่น เสวนา มหัศจรรย์ดาหลา ป่าอาหารสำหรับเมือง รังสรรค์ความอร่อย เมนูดาหลาจากเชฟป๊อป พิชชากร แห่งร้าน ADHOC BKK และเมนูเมี่ยงดอกดาหลาและคั่วกลิ้งเห็ดแครงโดยคุณแม๊กซิม อินทพร แกงส้มสมรมดาหลา โดยเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ สาธิตวิธีทำ Kombucha และขนมหวานจากดาหลา และเวิร์กชอป จัดดอกไม้เพื่อเรา จัดดอกไม้เพื่อโลกโดยคุณแพร พานิชกุลจากร้าน Flower in hand by P นอกจากนี้ยังมีการสาธิตผลผลิตจากป่าร่วมยางและตลาด City Farm Market อีกด้วย
คุณสุภา กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน เนื่องจาก แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน มีแนวคิดเรื่องการสร้างความมั่นคงทางอาหารและ เห็นปัญหาร่วมกันในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่มีต่อเกษตรกร ซึ่งภายในงานจะมีการพูดถึงเรื่องความหลากหลายของพันธุ์พืชในสวนยาง ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดโรคพืชต่างๆ อย่างเช่น โรคใบร่วงและส่งผลให้ปริมาณน้ำยางน้อย เป็นต้น
“ถ้าสวนยางมีความหลากหลายทางชีวภาพก็จะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศน์และช่วยให้เกษตรกรมีรายได้อื่นๆ จากพืชในสวนยาง อย่างเช่น ดอกดาหลาซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ที่ชาวบ้านอนุรักษ์เอาไว้ทำให้สวนยางมีความหลากหลายทางชีวภาพและต้นดาหลาเองก็มีความหลากหลายทางสายพันธุ์ นอกจากจะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศน์แล้ว ดาหลายังสามารถนำมาประกอบอาหารหรือเครื่องดื่มหลายเมนู รวมไปถึงนำไปเป็นไม้ดอกไม้ประดับได้อีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อถึงฤดูออกดอกก็จะมีความหลากหลายของสายพันธุ์ที่แตกต่างจากดอกดาหลาที่นำมาทำข้าวยำ มีทั้งสีชมพู สีแดง สีขาว ซึ่งลักษณะดอกก็มีความแตกต่างกันไป”
สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะปลูกดอกดาหลาหรือการเกษตรก็สามารถเข้ามาในงานนี้ได้ ส่วนใครที่สนใจพันธุ์ดอกดาหลาก็จะมีการเปิดจองล่วงหน้าให้คนที่สนใจได้เรียนรู้และรู้จักดอกดาหลามากขึ้น
คุณสุภา กล่าวถึงความหลากหลายทางชีวภาพผ่านดอกดาหลา เราต้องการสื่อสารให้กับผู้บริโภคได้เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องพันธุ์พืชที่สามารถนำมาปลูกผสมผสานกับสวนยางเชิงเดี่ยวได้ รวมทั้งอยากให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า ดาหลามีประโยชน์อะไรบ้าง ถ้าผู้บริโภคเข้าใจก็ช่วยให้เกษตรกรสามารถที่จะสร้างความหลากหลายในสวนยางของเขาได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น ในขณะเดียวกันระบบนิเวศน์ก็สามารถฟื้นฟูกลับมาก็จะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม ช่วยเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรชีวภาพในบ้านเราให้มีความหลากหลายมากขึ้น
ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวอีกว่า ปัจจุบันภาคใต้ส่วนใหญ่ปลูกพืชสวนยางเชิงเดี่ยว ปัจจุบันมีความตื่นตัวในการปลูกพืชชนิดอื่นผสมในสวนยางมากขึ้น เนื่องจากราคายางที่ไม่ค่อยดี ผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้หันกลับมาคิดถึงพืชอื่นที่จะช่วยทั้งทางเศรษฐกิจและฟื้นฟูระบบนิเวศให้มีความหลากหลายมากขึ้น
สำหรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเกษตรกรสวนยางในภาคใต้ในช่วงที่ผ่านมา สุภา บอกว่า เกษตรกรสวนยางได้ประสบปัญหากับโรคใบร่วงระบาดโดยเฉพาะในช่วงที่มีปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งมีฝนตกหนักและมีความชื้นมาก โรคใบร่วงระบาดหนักมากจนทำให้ต้นยางในบางพื้นที่ต้องตายและยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ แต่ในสวนผสมปรากฏว่า การระบาดที่เป็นวงกว้างไม่ค่อยพบอาจเป็นเพราะมีพืชชนิดอื่นปลูกผสมอยู่ด้วย นอกจากนี้ความชุ่มชื้นของสวนยางที่มาจากความหลากหลายของพันธุ์พืชก็ช่วยให้ต้นยางมีน้ำยางออกบ้างและบางช่วงก็มีน้ำยางออกเยอะเพราะอุณหภูมิไม่สูงมาก
“การจะให้น้ำยางของต้นยาง ถ้าเราดูแลดีๆ และทำให้มันมีความชื้นก็จะทำให้น้ำยางออก อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็คือการฟื้นฟูระบบนิเวศโดยการปรับปรุงดินในสวนยางให้สามารถอุ้มความชื้นได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำงานมาและพบว่า ถ้าจะรับมือหรือเกษตรกรจะปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การทำให้สวนมีความผสมผสานมากขึ้นก็จะช่วยในเรื่องระบบนิเวศในสวนยางได้ดี เป็นการรับมือแบบหนึ่ง ขณะที่ระบบสวนผสมนอกจากจะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศแล้วยังสามารถช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนได้อีกด้วย” คุณสุภากล่าว