เมื่อพูดถึง “เซ็กซ์” การมีเพศสัมพันธ์ คนส่วนมากมักมองแค่เป็นเรื่องบนเตียง แต่ในความเป็นจริงการมีเซ็กซ์ที่ดีนั้นจะช่วยเสริมสุขภาวะทางเพศที่ดีของคู่รักอีกด้วย 

            ปัจจุบันนักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับเรื่องของการสื่อสาร ความสัมพันธ์ (Relationship) ของคนสองคน ตามความหลากหลายทางเพศไม่ได้จำกัดเพียงชายหรือหญิง ซึ่งจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจความต้องการของกันและกัน เป็นแนวทางในการปรับจูนความสัมพันธ์บนความยินยอมพร้อมใจ อันจะช่วยเติมเต็มชีวิตคู่ให้แข็งแรง มีความสุขที่ยั่งยืน 

            นพ.พลวัฒน์ ปรีชาบริสุทธิ์กุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการคลินิกสุขภาพเชิงป้องกันและฟื้นฟู บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก (BDMS Wellness Clinic) อธิบายถึงการมีสุขภาวะทางเพศ (Sexual Wellbeing) ว่า นอกจากเรื่องของเพศสัมพันธ์แล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติ ความเชื่อ ความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก และความพึงพอใจที่เกิดขึ้นระหว่างมีกิจกรรมทางเพศ โดยเชื่อมโยงกับเพศสภาพต่าง ๆ ด้วย 

            ประเทศไทยมีการพูดคุยเรื่องสิทธิทางเพศ และการให้ความสำคัญทางเพศ รวมทั้งมีพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2550 บนแนวคิดที่ว่า สุขภาพทางเพศเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี กระนั้น ปัญหาสุขภาพทางเพศนั้นมีความซับซ้อนที่มากกว่าแค่เรื่องของสุขภาพทางร่างกาย บ่อยครั้งพบว่า มีเรื่องของจิตใจเข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก เช่น ความกังวล ความเครียด รวมไปถึงเรื่องสภาพสังคมในปัจจุบัน ด้วยความที่มีความหลากหลายค่อนข้างมาก สังคมจึงมีกรอบของการแสดงออกในระดับหนึ่ง แม้แต่ในคู่รักหลาย ๆ คู่ยังมีความตะขิดตะขวงใจที่จะพูดคุยกันตามตรง นานวันเข้าเกิดเป็นความอึดอัดคับข้องใจและส่งผลกระทบการมีสุขภาวะทางเพศที่ดี 

            “ฮอร์โมน” เป็นอีกเรื่องในอันดับต้นๆ ที่คนส่วนใหญ่จะนึกถึง นพ.พลวัฒน์ ปรีชาบริสุทธิ์กุล กล่าวว่า ฮอร์โมนเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ เป็นตัวส่งสัญญาณการทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องทางด้านเพศ นอกจากฮอร์โมนเพศ คือ “เทสทอสเทอโรน” ในผู้ชาย และ “เอสโตรเจน” และ “โปรเจสเตอโรน” ในผู้หญิงแล้ว ยังมีฮอร์โมนกลุ่มอื่นที่ส่งผลต่อสุขภาพทางเพศเช่นกัน คือ “ฮอร์โมนไทรอยด์” ที่ควบคุมการเผาผลาญของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ถ้ามีน้อยร่างกายจะอ่อนเพลีย ย่อมส่งผลต่อสุขภาวะทางเพศด้วย และกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มฮอร์โมนความเครียด อย่าง “คอร์ติซอล” รวมทั้ง “เซโรโทนิน” และ “เมลาโทนิน” ซึ่งเป็นเรื่องของการผ่อนคลาย การมีความสุข และการนอนหลับ  

            การมีเพศสัมพันธ์ยังเป็นกลไกหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อให้มนุษย์มีแฮปปี้ฮอร์โมน ช่วงที่มีเพศสัมพันธ์จะมีฮอร์โมนหลายตัวที่เป็นแฮปปี้ฮอร์โมนหลั่งออกมา เช่น “เอ็นดอร์ฟิน” ทำให้ผ่อนคลายมีสุข และ “ออกซิโทซิน” ที่จะหลั่งเมื่อมีความรักซึ่งกันและกัน ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองแนบแน่นมากยิ่งขึ้น 

            แม้ว่าการมีกิจกรรมทางเพศที่เหมาะสมและโดยการยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้มีสุขภาวะทางร่างกายสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น แต่สำหรับผู้ที่ไม่ชอบการมีเพศสัมพันธ์ก็ไม่ได้ถือว่าผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากประสบการณ์ก่อนหน้า หรือทัศนคติของแต่ละบุคคล ฉะนั้นการมีหรือไม่มีเพศสัมพันธ์ไม่ได้เป็นปัจจัยเพียงอย่างเดียวที่ทำให้ชีวิตคนเรายืนยาวขึ้นหรือสั้นลงแต่อย่างใด หากแต่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ถ้ามีอย่างเหมาะสมและถูกต้อง จะได้รับการผ่อนคลายที่ดีขึ้น เป็นโบนัสของชีวิต 

            อย่างไรก็ตาม บางครั้งปัญหาฮอร์โมนลดลงไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเท่านั้น เนื่องจากด้วยสภาพการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบันส่งผลให้เกิดความเครียด ทำให้ฮอร์โมนเพศลดลง โดยเริ่มพบได้มากขึ้นในผู้ชายที่อายุ 30 ตอนปลาย หรือ 40 ปี มีผลต่อสมรรถภาพทางเพศหรืออารมณ์ อาจแก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต หรือหากจำเป็นก็สามารถรับประทานอาหารเสริมที่สนับสนุนการสร้างฮอร์โมน หรือการใช้ฮอร์โมนทดแทนทางการแพทย์ ซึ่งจะต้องมีการตรวจประเมินเพื่อความเหมาะสมในการรักษา  

            การมีสุขภาวะทางเพศที่ดีนั้น นพ.พลวัฒน์ ปรีชาบริสุทธิ์กุล ย้ำว่า ต้องเริ่มต้นที่ตัวบุคคลก่อน ประการแรกคือ การที่คู่รักสามารถแสดงออกทัศนคติทางเพศอย่างมีอิสระมากขึ้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้ความสัมพันธ์ชัดเจนและแนบแน่นมากขึ้น มีการสนับสนุนซึ่งกันและกัน ไม่มีการบังคับ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของการสื่อสารในแง่ของความรู้สึก โดยเฉพาะขณะมีกิจกรรมทางเพศร่วมกัน จะช่วยให้มีเพศสัมพันธ์ที่สมบูรณ์และสมดุลมากยิ่งขึ้น  

            ประการต่อมาคือ การใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ที่ถูกต้อง เช่น “รับประทานอาหาร” ที่เหมาะสม ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ “ออกกำลังกาย” สม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 150 นาที ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นการออกกำลังกายอย่างหักโหมหรือหนักเกินไป ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเหนื่อยล้าและเครียดได้ กลายเป็นผลเสียต่อร่างกาย “การนอน” เฉลี่ยวันละ 7-8 ชั่วโมง โดยพบว่าการนอนน้อยลง 1 ชั่วโมง ส่งผลให้มีแนวโน้มในการสร้างฮอร์โมนเพศลดลง และปัจจัยสุดท้ายที่ส่งผลกระทบมากคือ “ความเครียด” ซึ่งอยากให้ทุกคนหาวิธีการผ่อนคลายความเครียด ให้มีอารมณ์เป็นบวกให้มากเข้าไว้การมีไลฟ์สไตล์ที่ถูกต้องเป็นรากฐานที่ดีของการมีสุขภาพร่างกายที่ดี ย่อมส่งเสริมการมีสุขภาวะทางเพศที่ดี 

            ทัศนคติในระดับสังคมเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพทางเพศที่ดีเช่นกัน การเริ่มต้นให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพทางเพศที่ถูกต้อง การส่งเสริมความเข้าใจและทัศนคติ รวมไปถึงการสื่อสารทัศนคติทางเพศอย่างเหมาะสมในเวลาและกาลเทศะที่สมควร จะทำให้บุคคลสามารถตัดสินใจในเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศของตนเองได้ดียิ่งขึ้น เพราะบางครั้งการปิดกั้นไม่ให้รู้และไม่มีข้อมูลเพียงพออาจจะทำให้เกิดผลเสียได้ ปัจจุบันก็มีหลายหน่วยงานที่เข้ามาช่วยในการให้คำปรึกษาในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้ารับการปรึกษาก่อนแต่งงาน การคุมกำเนิด ดูแลโรคประจำตัว หรือโรคที่เป็นอยู่ให้อยู่ในสภาวะที่ควบคุมได้ การปรับสมดุลฮอร์โมนเพื่อชะลอความเสื่อมของสภาพร่างกาย การเข้ารับคำปรึกษาปัญหาครอบครัวและสุขภาพจิต ทุกอย่างต้องสอดประสานกันในระดับบุคคลและสังคม เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดี 

            ทั้งนี้ การเปิดใจคุยกันของคู่รักเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด แต่ถ้าปรับแล้วยังไม่สบายกายไม่สบายใจ ก็สามารถขอรับการปรึกษาจากผู้ชำนาญการได้ เพราะปัญหาสุขภาพทางเพศสามารถป้องกัน และแก้ไขได้ด้วยการดูแลเชิงป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพ. 

            BDMS Wellness Clinic มุ่งมั่นพัฒนาและวิจัยเรื่องสุขภาพ เพื่อมอบเป็นของขวัญสุขภาพแก่คนไทยทุกคน เพราะสุขภาพที่ดี คือของขวัญที่ดีที่สุด Live longer, Healthier and Happier 

            สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก (BDMS Wellness Clinic) ​ไลน์ @bdmswellnessclinic or https://lin.ee/rdIDv1A เว็บไซต์ www.bdmswellness.com 

https://www.kaosanonline.com/?p=24697

By admin

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *