“วัสดุทุกอย่างล้วนสวยในตัวของมัน เพียงแค่หยิบมาใช้ให้ถูกที่ถูกทาง ก็เพิ่มความสวยให้มัน และใช้ประโยชน์ได้สูงสุด” โอเว่น หรือ เปรม บัวชุม แชมป์ดีไซน์เนอร์อัพไซเคิลรุ่นใหม่จากโครงการ RECO Young Designer บอกว่า “ดีใจมากที่ในที่สุดความพยายามก็ชนะทุกสิ่ง เราเคยเข้าประกวดโครงการ RECO ในปี 2019 มาแล้วครั้งนึงได้ผ่านเข้าถึงรอบ 10 ทีมสุดท้าย แต่ยังไม่ถึงฝั่งฝัน ถึงอย่างนั้นก็ไม่ละความพยายาม จนมาถึงปีนี้ตั้งใจเข้าประกวดอีกครั้ง เราก็สั่งสมความรู้มาเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้วัสดุรีไซเคิลซึ่งเป็นโจทย์หลักมาใช้ในงานดีไซน์แฟชั่นในคอลเล็คชั่น The Origin of Rebirth”
โอเว่น เล่าว่า “แรงบันดาลใจจากผลงานชิ้นนี้มาจากทฤษฎีบิ๊กแบง ที่อธิบายถึงการระเบิดใหญ่ที่ทำให้พลังงานส่วนหนึ่งเปลี่ยนเป็นเนื้อสาร มีวิวัฒนาการต่อเนื่องจนเกิดเป็นกาแล็กซี เนบิวลา ดาวฤกษ์ ระบบสุริยะ โลก ดวงจันทร์ มนุษย์ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในเวลาต่อมา การออกแบบครั้งนี้จึงสะท้อนถึงการดับสูญและการเกิดใหม่ ไอเดีย คือ การนำเศษป้ายยี่ห้อที่ไม่มีใครต้องการมารีไซเคิลเป็นเส้นด้ายใหม่ แล้วถักทอเข้าด้วยกันเป็นผ้าผืนใหม่ ก็เหมือนกับการที่สารต่างๆ หลอมรวมกันจนเกิดกาแล็คซี่และสิ่งต่างๆ”
สำหรับเทคนิคการตัดเย็บ โอเว่น อธิบายว่า ได้นำเศษป้ายยี่ห้อเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมทอผ้าที่มีความสวยงามในตัวเองอยู่แล้วมาอัพไซเคิลเพื่อสร้างสรรค์ให้เสื้อผ้ากลายเป็นงานศิลปะเพื่อสร้างให้เกิดมูลค่าทางจิตใจ ผนวกกับการนำผ้าโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลที่ผลิตจากขวด PET ใช้แล้วซึ่งได้รับการสนับสนุนมาจากอินโดรามา เวนเจอร์ส มาเป็นวัตถุดิบในการตัดเย็บชุดด้วยเทคนิคที่ถูกที่ถูกทางในคอลเล็คชั่นนี้ ก็ช่วยเพิ่มความสวยงามและโดดเด่นมากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถดีไซน์เป็น accessories ต่างๆ ได้ รวมถึงการถักทอต่างๆ ยังสามารถกระจายรายได้ให้ชุมชนต่อได้ และผลิตเป็นเสื้อผ้าแบบ Ready to Wear ซึ่งสามารถนำสิ่งเก่ามาประยุกต์เป็นสิ่งใหม่ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม ขายตามท้องตลาดได้ และใส่เดินเที่ยวบนท้องถนนได้จริง ตามแนวทางของ Circular Fashion”
นวีนสุดา กระบวนรัตน์ รองประธานร่วมฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล ในฐานะผู้จัดงาน และหนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน กล่าวเสริมว่า “คุณค่าของการรีไซเคิล หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้โดยอาศัยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างรายได้ และลดของเสียจากอุตสาหกรรมจะช่วยลดปริมาณขยะ ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง และในฐานะที่ไอวีแอลเป็นผู้ดำเนินธุรกิจรีไซเคิลที่ใหญ่ที่สุดในโลก เราจึงมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการรีไซเคิล จึงเป็นที่มาและแนวคิดของโครงการประกวดออกแบบแฟชั่นรักษ์โลก RECO Young Designer ซึ่งได้จัดมายาวนานกว่า 9 ปี”
“ในแต่ละปีที่ผ่านมา ต้องเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก จากการตอบรับของผู้ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ RECO มากขึ้นเรื่อยๆ เราจะเห็นได้ชัดเจนในเรื่องของพัฒนาการของการออกแบบ การผลิตชิ้นงาน รวมถึงสิ่งที่เราพยายามถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ให้แก่น้องๆ เกี่ยวกับการรีไซเคิล ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้นำขยะขวดพลาสติก PET มาใช้ในกระบวนการรีไซเคิลเพื่อแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติก และเส้นใยโพลีเอสเตอร์สังเคราะห์รีไซเคิลมาตั้งแต่ปี 2554 เพื่อให้เข้าใจกระบวนการรีไซเคิลมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ โครงการ RECO ยังมีที่ปรึกษาเป็นนักออกแบบ ซึ่งจะมาช่วยแนะนำน้องในเชิงการค้า ทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จ เพราะบางครั้งไอเดียอย่างเดียวอาจจะยังไม่เพียงพอ ก็ต้องมีการผสมผสานทั้งองค์ความรู้ และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้ผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ”
สำหรับโจทย์ในปีนี้ ภายใต้ธีม “REVIVE : Start from Street นวีนสุดา เล่าว่า “ที่เราเน้นความเป็น Street เพราะคอลเล็คชั่นในปีที่ผ่านมา ค่อนข้างจะเหมาะกับการเดินแคทวอล์กมากกว่า ซึ่งหลายคนจะสงสัยว่า จริงๆ แล้วผลงานเหล่านั้นสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันมั้ย เพราะฉะนั้น โจทย์ในรอบนี้เราเลยเน้นให้ผู้เข้าประกวด ส่งผลงาน 3 ชุด โดยเป็นชุด Concept 1 ชุด ส่วนอีก 2 ชุดต้องเน้นเป็นชุดที่ใส่ได้จริงตามท้องถนน เพราะเราอยากให้คนรู้สึกว่า การใส่เสื้อผ้าที่มาจากการรีไซเคิลไม่ใช่เรื่องแปลกแล้ว มันก็ดูสวยงาม ซึ่งจากที่ได้เห็นผลงานของน้องๆ ก็ตอบโจทย์ที่เราตั้งไว้มาก ซึ่งมันทำให้ดูแตกต่างจากปีก่อน ทำให้ของที่คนอาจมองว่าเป็นขยะกลายเป็นผลงานสร้างสรรค์ ซึ่งพลิกมุมมองให้คนตระหนักถึงคุณค่าของวัสดุมากยิ่งขึ้น และการรีไซเคิลไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป”
เช่นเดียวกับผลงาน Remembering Your Favorite Teddy Bear ของ สถิตคุณ บุญมี รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ที่ดึงเอาของใกล้ตัวอย่างตุ๊กตามาบอกเล่าถึงแรงบันดาลใจการอัพไซเคิลว่า “ได้ไปเดินเยี่ยมชมโรงงานตุ๊กตาแห่งหนึ่งที่ราชบุรี เราพบว่า มีตุ๊กตาจำนวนหนึ่งถูกนำไปทิ้งเนื่องจากแพทเทิร์นมีตำหนิจนไม่สามารถนำไปเย็บขึ้นรูปได้ เราก็เลยรวบรวมตุ๊กตาทั้งจากโรงงาน ร้านขายของมือสอง และที่บ้าน มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะตุ๊กตาเหล่านี้ประกอบด้วยเส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่นำมาอัพไซเคิลด้วยเทคนิคต่างๆ นอกจากนี้ สีสันของตุ๊กตายังทำให้นึกถึงงานศิลปะแบบ abstract ของแจ๊คสัน พอลล็อค ซึ่งเป็นศิลปินแนวนามธรรม งานของพอลล็อคเป็นการหยดสีบนผืนผ้าใบแทนการระบายสีตามปกติ หยดและแนวสีที่ซ้อนกันทำให้เกิดเป็นงานศิลปะ จึงได้นำแนวคิดนี้มาผสมผสานเข้าไปในลวดลายของคอลเล็คชั่นเพื่อให้ชิ้นงานมีความร่วมสมัยมากขึ้น และบันดาลให้ตุ๊กตาที่ไม่มีคนสนใจแล้วกลายเป็นเสื้อผ้าสไตล์ร่วมสมัยที่สวมใส่ได้จริงผ่านการอัพไซเคิล”
ส่วน วรเมธ มอญถนอม ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ และธนกร ศรีทอง นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกันแชร์คอนเซ็ปต์ผลงานรองชนะเลิศอันดับสอง ในคอลเล็คชั่น “Revive” ว่า “เหมือนการชุบชีวิต ทำให้นึกถึงเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ จากฤดูที่หนาวที่เหมือนตายแล้วกลับกลายเป็นฤดูใบไม้ผลิที่กำลังเบ่งบานขึ้นมา สิ่งที่กำลังฟื้นฟูขึ้นมา เปรียบระหว่างเรื่องราวของความตายกับเรื่องราวของการเกิดใหม่ เราจึงเอาวัสดุมา revive เหมือนกัน ผมเลือกใช้เทคนิคที่นำวัสดุเหลือใช้ อย่างเช่น วัสดุ PET ต่างๆ เอามาต่อยอดเป็นเป็นงานศิลปะ 1 ชิ้น โดยนำมาทำเป็นลายพิมพ์ขยะที่สื่อความหมายลึกซึ้ง โดยการใช้เทคนิคการนำไปรีดกาวให้เกิดความรอยย่นระยะให้มันเป็น texture ขึ้นมาอีก 1 ชั้น มันอาจมีความไม่สมบูรณ์แบบบ้างในตัวชุด เพื่อให้เกิดอรรถรส คำนึงถึงการใช้วัสดุที่ไม่ต้องทิ้ง ในส่วนของการปักจะเลือกใช้แผ่นฟิล์มเอ็กซเรย์ที่ไม่ใช้แล้วจากโรงพยาบาลสัตว์ สำหรับผ้าโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลจากขวด PET นั้น ตัวผ้าติดสีได้อย่างที่ใจต้องการเลย ชุดที่เราทำสามารถปรับเปลี่ยนไปเอาไปใช้ในการทำงานได้จริง 100% และผมก็ยังทำงานที่คำนึงถึงความสามารถในการต่อยอดในเชิงอุตสาหกรรมได้”
ผลงานในทุกคอลเล็คชั่นของโครงการ RECO สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดดีไซน์ การนำวัสดุต่างๆ ที่คนทั่วไปอาจเห็นว่าไร้ประโยชน์มาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดความสวยงาม มีคุณภาพ และใช้งานต่อได้จริง อินโดรามา เวนเจอร์ส หวังว่าการประกวดนี้จะสามารถจุดประกายความฝัน เปิดประสบการณ์ ปลูกฝังแนวคิด Circular Fashion รวมทั้งช่วยสนับสนุนพัฒนาดีไซเนอร์รุ่นใหม่ๆ ให้มีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานรักษ์โลก และสามารถนำผลงานมา REVIVE ให้แฟชั่นรีไซเคิลได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง