sacit สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) สื่อสารและสร้างแรงบันดาลใจสู่คนรุ่นใหม่และสังคมไทย เปิดตัววิดีทัศน์ชุด “Infinity Imagination of Craftsmanship : จินตนาการไม่มีที่สิ้นสุดแห่งหัตถศิลป์ไทย” สะท้อนการนำความคิดสร้างสรรค์และแนวคิดการออกแบบมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการ “sacit Concept 2022” ยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับงานศิลปหัตถกรรมไทย ก้าวสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ
นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวว่า อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของ sacit คือการดำเนินงานด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการใช้เทคโนโลยี การนำนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เข้ามาปรับกระบวนทัศน์ของผู้ทำงานศิลปหัตถกรรม ให้มีการพัฒนารูปแบบ สีสัน ขนาด ลวดลาย ฟังก์ชั่นการใช้งานและการนำเสนอ ให้ตรงกับรสนิยมของผู้บริโภคและความต้องการของตลาดในยุคปัจจุบัน โดยมีการเชื่อมโยงเครือข่ายระดมสมองระหว่างนักออกแบบกับช่างฝีมือ เพื่อให้งานหัตถกรรมไทยเกิดการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยสามารถนำมาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน สอดรับกับวิถีชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบันภายใต้ โครงการ “sacit Concept 2022” พร้อมเผยผลสำเร็จการจับคู่ช่างฝีมือ-นักออกแบบที่พร้อมนำมาสู่การต่อยอดในเชิงพาณิชย์
sacit ยังให้ความสำคัญกับการสื่อสารไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่และสังคมไทย เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมในสังคมให้เกิดการยอมรับและสนับสนุนงานศิลปหัตถกรรมไทย ผ่านวิดีทัศน์ชุด “Infinity Imagination of Craftsmanship : จินตนาการไม่มีที่สิ้นสุดแห่งหัตถศิลป์ไทย” สะท้อนมุมมองของการหลอมรวมทักษะเชิงช่างและภูมิปัญญา กับการออกแบบด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่ไร้ขอบเขต นำมาสู่ผลงานที่จะสร้างสุนทรียะให้กับผู้ที่ได้สัมผัสและเป็นเจ้าของ เพิ่มโอกาสทางการตลาดและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ไร้ขีดจำกัด รวมไปถึงการสร้างแรงบันดาลใจผ่านงานนวัตศิลป์ที่จะสร้างการรับรู้บริบทใหม่ให้แก่สังคมว่า งานศิลปหัตถกรรมในปัจจุบันมีความร่วมสมัยและสอดคล้องกับการใช้ชีวิตของผู้คนในยุคนี้ได้อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยวิดีทัศน์ชุดนี้จะมีการนำไปเผยแพร่ยังสื่อในช่องทางและแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยม ส่งเสริมและตอกย้ำให้คนรุ่นใหม่ เกิดความตระหนักและจุดประกายในการนำไปปรับปรุงรูปแบบและพัฒนาต่อยอด อันจะเป็นการสืบสานงานศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่ในสังคมไทยอย่างยั่งยืนที่แท้จริง
การดำเนินงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบัน หรือ sacit Concept 2022 ภายใต้แนวคิด GIVE the perfect GIFT โดยมีรูปแบบการดำเนินงาน Crafts Design Matching ซึ่ง sacit ทำหน้าที่เป็น Match Maker โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักพัฒนา 1 คน ต่อ 1 ระหว่าง สมาชิก sacit ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลป หัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ชุมชนหัตถกรรม และ กลุ่มนักออกแบบ ใน 8 ประเภทงานศิลปหัตถกรรมไทย ได้แก่ 1.เครื่องไม้ 2.เครื่องจักสาน 3.เครื่องดิน 4.เครื่องทอ (ผ้า) 5.เครื่องโลหะ 6.เครื่องหนัง 7.เครื่องกระดาษ และ 8.เครื่องแก้ว โดยเน้นการสร้างสรรค์ด้วยมือต่อยอดจากภูมิปัญญาดั้งเดิม เพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งาน สู่ชิ้นงานที่มีความร่วมสมัย ซึ่ง sacit ได้ดำเนินการได้ตามเป้าหมาย คือ 31 ชิ้นงาน รวมถึงการได้เห็นความร่วมมือกันสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยระหว่างนักออกแบบและผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมไทย ได้ลงพื้นที่ศึกษาขั้นตอนการผลิต และดึงเอาศักยภาพของผู้ผลิตมาร่วมมือกันพัฒนาชิ้นงานในรูปแบบต่างๆ ที่ทันสมัย ใช้งานได้จริง และมีดีไซน์ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่อีกด้วย
การพัฒนางานหัตถศิลป์ไทยให้สอดรับกับยุคปัจจุบันผ่านโครงการ sacit Concept นี้เองนับเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้ผลิตที่ทำงานศิลปหัตถกรรมไทย ได้มองเห็นจุดอ่อนของผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตของตนเอง ผ่านมุมมองของกลุ่มนักออกแบบที่จะมาเป็นผู้ช่วยปรับปรุงรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความสวยงาม ทันสมัย และตรงตามความต้องการของผู้ซื้อ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการเชื่อมโยงภูมิปัญญาที่ผสมผสาน จนทำให้เกิดเรื่องราวที่น่าสนใจและสามารถจำหน่ายได้จริงในระดับราคาที่สามารถเข้าถึงได้ เป็นการเพิ่ม ขีดความสามารถในการแข่งขันพร้อมสำหรับรองรับตลาดทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับผู้ที่กำลังมองหาแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย สามารถมาสัมผัสและเติมเต็มมุมมองใหม่ๆ ที่มีต่องานศิลปหัตถกรรมไทย ด้วยผลิตภัณฑ์ที่สวยงามมีดีไซน์ และเปี่ยมไปด้วยภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทย ภายในงานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 13 และ Crafts Bangkok 2022 ระหว่างวันที่ 8-11 กันยายน 2565 ณ ฮอลล์ 101-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค