คณะผู้ทรงคุณวุฒิจาก กสว.-สกสว.-สำนักงบประมาณ ประทับใจ “โครงการวิจัยการพัฒนาเมืองลำปาง สู่เมืองแห่งการเรียนรู้จากฐานภูมิสังคมและวัฒนธรรม สู่กระบวนการสร้างแบรนด์อัตลักษณ์ใหม่ของเมือง กับกระบวนการบริหารจัดการภูมิทัศน์วัฒนธรรมชุมชนและการพัฒนาย่านวัฒนธรรมชุมชน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่อย่างยั่งยืนผ่านการส่งเสริมการจัดการตลาด” ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) มั่นใจช่วยสร้างความมั่งคั่ง-มั่นคง-ยั่งยืนแก่ประชาชนในพื้นที่ และทำให้ลำปางเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ สร้างสรรค์ น่าอยู่ ยั่งยืน

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์  ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.) กล่าวแสดงความชื่นชมงานวิจัย “การพัฒนาเมืองลำปางสู่เมืองแห่งการเรียนรู้จากฐานภูมิทางสังคมและวัฒนธรรม สู่กระบวนการสร้างแบรนด์อัตลักษณ์ใหม่ของเมือง กับกระบวนการการบริหารจัดการภูมิทัศน์วัฒนธรรมชุมชน และการพัฒนาย่านวัฒนธรรมชุมชน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่อย่างยั่งยืน” ที่มีการเชื่อมโยงพลังของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการวิจัย ในโอกาสนำคณะซึ่งประกอบ ด้วย รศ.ดร.ปัทมาวดี  โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) และนางวีณา  บรรเลงจิต นักวิเคราะห์งบประมาณชำนาญการพิเศษ สำนักงบประมาณ ลงพื้นที่จังหวัดลำปาง ตรวจติดตามความก้าวหน้าโครงการวิจัยที่ได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ภายใต้การการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.)

“งานวิจัยที่ลำปางเห็นชัดเจนได้ว่า เป็นการสืบสานต่อยอดจากฐานทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิม โดยเชื่อมโยงหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง จัดเป็นทิศทางการทำงานวิจัยที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่เรื่องของการสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน รวมทั้งดูแลทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเติบโตขึ้น”

ประธาน กสว. ยังให้แนวทางการขับเคลื่อนงานวิจัยในพื้นที่จังหวัดลำปางเพิ่มเติมว่า ควรมุ่งเน้นไปใน 3 ประเด็น คือ ประเด็นที่ 1 เรื่องผลิตภัณฑ์ที่ต้องยกระดับเข้าสู่ระบบตลาด เชื่อมโยงทั้งในประเทศ ตลาดต่างประเทศ รวมถึงตลาดในพื้นที่ เพื่อทำให้เกิดเศรษฐกิจที่ยึดโยงกับคนในพื้นที่ ประเด็นที่ 2 เรื่องของเมืองแห่งการเรียนรู้ และประเด็นที่ 3 คือเรื่องการพัฒนาคุณภาพคน

“วันนี้จึงอยากจะผลักดันพลังของคนลำปาง โดยคนลำปางเองต้องร่วมคิด ร่วมกันตัดสินใจ โดยมีหน่วยงานให้คำปรึกษาให้แนวทาง สร้างโอกาสในการเรียนรู้ ซึ่งเป็นสิทธิของพวกเราที่จะเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ไม่ใช่แค่ดีกรีต่าง ๆ ที่ได้มา แต่ว่าเป็นทักษะความสามารถ สิ่งที่จะอยู่อย่างมีความสุขอยู่ในระบบโลกใหม่ เห็นคุณค่าของตัวเองแล้วก็นำคุณค่าแปรเป็นมูลค่าให้ได้ นี่คือสิ่งที่จะเรียนรู้ด้วยกัน ผมคิดว่า “ลำปางโมเดล” จะเป็นเมืองหนึ่งที่เป็นหลักส่งอิทธิพลต่อเมืองอื่น ๆ ขณะเดียวกันการสร้างคนที่ถึงพร้อมด้วยความรู้ ไม่ยี่หระต่อความลำบาก ใช้ความรู้เป็นตัวตั้ง และการมองประเด็นสาธารณะมากกว่าประเด็นของตัวเองก็เป็นเรื่องที่สำคัญ และจำเป็น”

ทางด้าน รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล  ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า การมาจังหวัดลำปางในครั้งนี้ นอกจากเยี่ยมชมได้เรียนรู้กับพื้นที่แล้ว ยังมุ่งเน้นการขับเคลื่อนจังหวัดลำปางในมิติอื่น ๆ นอกจากการพัฒนาเชิงพื้นที่ในเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ต้น ขยายไปในส่วนของการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมร่วมขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ ซึ่งมีจังหวัดลำปางรวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกันสภาพัฒน์ฯ เองก็อยากเห็นว่างานวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมมีบทบาทเข้าไปช่วยในเรื่องของการพัฒนาตามแผนแม่บทของประเทศฉบับที่ 13 ซึ่งใช้อยู่ในตอนนี้

“มิติการขับเคลื่อนงานวิจัยในพื้นที่ลำปาง ควรต้องครอบคลุมมิติด้านสังคมเกี่ยวเนื่องกับสังคมสูงวัย และการศึกษา ควบคู่กับมิติด้านทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องคุณภาพอากาศ เรื่องฝุ่นควันพิษ พีเอ็ม 2.5 รวมทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ จากฐานทุนทางวัฒนธรรม และฐานทรัพยากรของพื้นที่ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับครั่ง และเซรามิค”

รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า ผลลัพธ์เชิงประจักษ์ของงานวิจัยในพื้นที่ลำปาง เกิดขึ้นจากความหลอมรวมความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ร่วมกับ บพท. ในการพัฒนากลไกความร่วมมือ ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วม บนฐานความรู้จากงานวิจัย

“สิ่งที่งานวิจัยในพื้นที่ลำปางได้ค้นพบหลายตัวชัดเจนมาก เช่น ในเรื่องของอุตสาหกรรมการใช้มือ มันส่งหมุดหมายว่านี่คือทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางสังคมที่เรามีอยู่ และได้รับการยกระดับให้ดีขึ้นด้วยความรู้ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม  เราเห็นว่ามันไปต่อได้ เราสามารถวางจุดหมายของสินค้าและบริการของของลำปางในตลาดโลกได้ อันนี้คือสิ่งที่เราจะต้องไปต่อในส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจประเทศไทย ประการต่อมาเรื่องของอาหาร เราไม่ได้เริ่มจากเอกชนขนาดใหญ่แต่เริ่มจากชาวบ้านตัวเล็กตัวน้อยขึ้นมา วันนี้เรามั่นใจว่าสินค้าของชาวบ้านเข้าสู่คุณภาพ แล้วก็ราคาที่เป็นไปได้ในการจะอยู่ในตลาดโลก”

รศ.ดร.ปุ่น กล่าวต่อว่า  เราต้องขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางมาก ๆ ที่อำนวยความสะดวกให้ทุกภาคส่วนมีความเป็นเนื้อเดียวกัน ในการขับเคลื่อนงานวิจัยอย่างไร้รอยต่อ เราอยากให้โมเดลของลำปางกลายเป็นพื้นที่ที่เมืองอื่นได้มาเรียนรู้ด้วย มันไม่ใช่เพียงแค่อยู่ดี ๆ ลุกขึ้นมาทำแล้วมันทำได้ แต่มันเกิดขึ้นจากกลไกความร่วมมือ กลไกการบูรณาชุดความรู้จากฐานภูมิปัญญาที่มีอยู่ในพื้นที่ และการออกแบบกระบวนการขับเคลื่อนการทำงานที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่

บพท. ได้สนับสนุนทุนวิจัยภายใต้กรอบวิจัยการจัดการทุนทางวัฒนธรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสำนึกท้องถิ่น และกรอบวิจัยการพัฒนาเมืองและกลไกการเติบโตใหม่ในพื้นที่จังหวัดลำปาง ผ่านโครงการวิจัยพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมชุมชน ผ่านกลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาสังคมเพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่ ซึ่งมี รศ.ดร.สุพรรณี  ฉายะบุตร แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นหัวหน้าโครงการ และโครงการการพัฒนาเมืองลำปางสู่เมืองแห่งการเรียนรู้จากฐานภูมิทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งมี ดร.ขวัญนภา สุขคร แห่งมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นหัวหน้าโครงการ โดยที่โครงการวิจัยพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมชุมชน ผ่านกลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาสังคมเพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่ ทำให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ พัฒนาผู้ประกอบการเชิงวัฒนธรรมได้กว่า 462 ราย ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากรายได้ประจำร้อยละ 49.2 ของรายได้เฉลี่ยรวมของครัวเรือน

สำหรับโครงการวิจัยการพัฒนาเมืองลำปางสู่เมืองแห่งการเรียนรู้จากฐานภูมิทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นการขับเคลื่อน “เมืองแห่งการเรียนรู้” และพัฒนาระบบและกลไกเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้จากฐานภูมิทางสังคมวัฒนธรรมโดยกระบวนการมีส่วนร่วม และพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ของเมืองในย่านเมืองสำคัญของลำปางเพื่อยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่นและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงเพื่อให้เกิดการสังเคราะห์ข้อมูลความรู้ จัดกลุ่มข้อมูลความรู้หรือขอบเขตของความรู้ให้เกิดความชัดเจนและนำไปใช้งานได้ด้วยระบบที่สะดวกสามารถเข้าถึงได้ง่ายและเป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าชุดองค์ความรู้จากภูมิปัญญา ปราชญ์ท้องถิ่น ความจำเพาะทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและทรัพยากรเก่าแก่ที่มีคุณค่าในทุกด้าน และทำการรวบรวมจัดเก็บข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ในการพัฒนาเมืองลำปางและการใช้ข้อมูลเพื่องานด้านอื่น ๆ

โครงการวิจัยทั้ง 2 โครงการ ทำให้เกิดกลไกเครือข่ายการเรียนรู้ในการพัฒนาเมืองที่เข้มแข็งของคนในพื้นที่และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ รวม 35 เครือข่าย  เพื่อขับเคลื่อนจังหวัดลำปาง สู่ความเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ สร้างสรรค์ น่าอยู่ ยั่งยืน ทำให้เกิดนวัตกรชุมชนมากกว่า 188 คน ทำให้เกิดเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Bio Circular and Green-BCG) จำนวน 17 เทคโนโลยี  ทำให้เกิดเทคโนโลยีการสร้างห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูง จำนวน 23 เทคโนโลยี และเทคโนโลยีการสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์ จำนวน 60 เทคโนโลยี ส่งผลให้นวัตกรชุมชนสามารถสร้างรายได้แก่ชุมชนจากเพิ่มขึ้นร้อยละ 10

https://www.kaosanonline.com/?p=68014

By admin

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *