บอร์ดอีวี ไฟเขียวมาตรการสนับสนุนผู้ผลิตรถยนต์ให้เปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีใหม่และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ HEV ตั้งแต่ปี 2571 – 2575 ยกระดับไทยฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าครบวงจรระดับโลก คาดมาตรการนี้สร้างเม็ดเงินลงทุนอีกไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดอีวี ที่มี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้เห็นชอบ “มาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” โดยการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารขนาดที่นั่งไม่เกิน 10 คน แบบไฮบริด (HEV) ซึ่งเป็นเทคโนโลยียานยนต์ที่ผสมผสานทั้งระบบเครื่องยนต์สันดาปภายในและระบบไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสอดรับกับทิศทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในขณะที่ยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในระยะยาวผ่านการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์อย่างครบวงจรมากยิ่งขึ้น โดยมีเงื่อนไขสำคัญ 4 ด้าน คือ การลดการปล่อยคาร์บอน การลงทุนเพิ่มเติม การใช้ชิ้นส่วนสำคัญในประเทศ และการติดตั้งระบบความปลอดภัยของรถยนต์ เพื่อตอบโจทย์การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ การเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น “ศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทในระดับโลก”
มาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ HEV จะปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตให้อยู่ในระดับคงที่ในช่วงปี 2571 – 2575 จากเดิมอัตราภาษีจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ทุก 2 ปี โดยกำหนดให้บริษัทผลิตรถยนต์ HEV ที่ประสงค์จะรับสิทธิ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข 4 ด้านก่อนการรับสิทธิ ดังนี้
(1) ต้องมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไม่เกิน 120 g/km
- การปล่อย CO2 ไม่เกิน 100 g/km อัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 6
- การปล่อย CO2 101 – 120 g/km อัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 9
(2) ต้องมีการลงทุนจริงเพิ่มเติม โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และ/หรือบริษัทในเครือในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2567 – 2570 ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท
(3) ต้องมีการใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ โดยรถยนต์ HEV รุ่นที่ขอรับสิทธิต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศตั้งแต่ปี 2569 และต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญอื่นๆ ตั้งแต่ปี 2571 เป็นต้นไป โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าสูง 3 ชิ้น ได้แก่ Traction Motor, Reduction Gear, Inverter และชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าปานกลาง 8 ชิ้น ได้แก่ BMS, DCU, คอมเพรสเซอร์ระบบปรับอากาศสำหรับ BEV, Electrical Circuit Breaker, DC/DC Converter, High Voltage Harness, Battery Cooling System, Regenerative Braking System โดยจะขึ้นกับมูลค่าการลงทุน
(3.1) กรณีลงทุนเพิ่มเติมตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป สามารถเลือกได้ว่า จะใช้ชิ้นส่วนสำคัญ 3 ชิ้นในกลุ่มที่มีมูลค่าสูง หรือเลือก 2 ชิ้นในกลุ่มมูลค่าสูง และอีก 2 ชิ้นในกลุ่มมูลค่าปานกลาง หรือหากเลือก 1 ชิ้นในกลุ่มที่มีมูลค่าสูง จะต้องเลือก 4 ชิ้นในกลุ่มมูลค่าปานกลาง
(3.2) กรณีลงทุนเพิ่มเติม 3,000 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่ถึง 5,000 ล้านบาท จะต้องใช้ชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าสูงทั้ง 3 ชิ้นเท่านั้น
(4) ต้องมีการติดตั้งระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ (Advanced Driver Assistance System: ADAS) ในรถยนต์ HEV รุ่นที่ขอรับสิทธิอย่างน้อย 4 จาก 6 ระบบ ดังนี้ ระบบเบรกฉุกเฉินขั้นสูง (AEB) ระบบเตือนการชนด้านหน้าของรถ (FCW) ระบบการดูแลภายในช่องจราจร (LKAS) ระบบเตือนการออกหรือเปลี่ยนช่องจราจร (LDW) ระบบการตรวจจับจุดบอด (BSD) และระบบการควบคุมความเร็วของยานยนต์ (ACC)
ที่ประชุมบอร์ดอีวี ได้มอบหมายให้บีโอไอ ร่วมกับกระทรวงการคลัง นำมาตรการนี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนออกประกาศต่อไป
“รถยนต์ HEV เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง ทั้งการผลิตเพื่อการส่งออกและจำหน่ายในประเทศ เพราะสามารถตอบโจทย์ทั้งเรื่องการประหยัดพลังงาน ช่วยลดปัญหาฝุ่นควัน และก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของกลุ่มรถยนต์ HEV จึงได้ออกมาตรการนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีค่ายรถยนต์สนใจเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 5 ราย สร้างเม็ดเงินลงทุนต่อเนื่องในช่วง 4 ปีข้างหน้า ไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท อีกทั้งจะช่วยเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ รักษาและต่อยอดฐานผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย และเพิ่มความเข้มแข็งของไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ครบวงจรระดับโลกด้วย” นายนฤตม์ กล่าว
นอกจากนี้ บอร์ดอีวี ได้รับทราบผลของมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล ซึ่งบีโอไอ ได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนโครงการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งการผลิตยานยนต์ BEV ประเภทต่าง ๆ แบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญ รวมทั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 80,000 ล้านบาท ในส่วนของมาตรการ EV3 และ EV3.5 โดยกรมสรรพสามิต มีผู้เข้าร่วมมาตรการจำนวน 24 แบรนด์ คิดเป็นจำนวนยานยนต์ทุกประเภทรวมกันกว่า 118,000 คัน สำหรับยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 มีจำนวน 37,679 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า จดทะเบียน 13,634 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 โดยขณะนี้มียานยนต์ BEV ทุกประเภทจดทะเบียนสะสมในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 183,236 คัน