เพาะกายต่อยอดซอฟต์พาวเวอร์ (SOFT POWER)สร้างอาชีพผู้ฝึกสอนกีฬา Personal Trainer ด้วยหลักสูตร NBCC สร้างเม็ดเงินสู่อุตสาหกรรมกีฬาอย่างต่อเนื่อง
นายศุกรีย์ สุภาวรีกุล นายกสมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีมอบวุฒิบัตรให้แก่ผู้ผ่านการอบรมหลักสูตร “ผู้ฝึกสอนกีฬาเพาะกายระดับชาติ” (National Bodybuilding Coaching Certificate หรือ NBCC) ซึ่งสมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทยได้จัดการอบรมฝึกสอนให้แก่บุคลากรในวงการกีฬาเพาะกายและผู้สนใจในวิชาชีพผู้ฝึกสอนกีฬา (Personal Trainer) ซึ่งได้จัดติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี โดยในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 มีนาคม 2567 ที่ โรงแรมอเล็กซานเดอร์ กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมรับการอบรมจำนวน 60 คนภายใต้การสนับสนุนของการกีฬาแห่งประเทศไทยและกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ
สำหรับหลักสูตร “ผู้ฝึกสอนกีฬาเพาะกายระดับชาติ” (National Bodybuilding Coaching Certificate หรือ NBCC) นี้ป็นหลักสูตรที่สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับสถาบันการจัดการกีฬาเพื่อองค์กรกัฬา (WISDOM) ออกแบบเนื้อหาหลักสูตรเพื่อเป็นการต่อยอดการสร้างวิชาชีพทางด้านผู้ฝึกสอนให้แก่บุคลากรในวงการกีฬาเพาะกายที่ต้องการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพให้เป็นสากลและมีองค์ความรู้ในทุกๆ ด้านที่ผู้ฝึกสอนกีฬาระดับมืออาชีพพึงมี โดยเนื้อหาในหลักสูตรจะประกอบด้วย ความรู้ทางด้านกายวิภาคของมนุษย์ระบบกล้ามเนื้อและกระดูกส่วนต่างๆ สอนโดย ดร.ทศพร ยิ้มละมัย ความรู้ด้านชีวะกลศาสตร์การเคลื่อนไหวของร่างกาย โดย รศ.ดร.ศิริรัตน์ หิรัญรัตน์ ความรู้ทางด้านโภชนาการและการคำนวณสารอาหารที่จำเป็นในร่างกาย โดย ดร.อรวรรณ ภู่ชัยวัฒนานนท์ ความรู้ทางด้านเวชศาสตร์การกีฬาการป้องกันการบาดเจ็บจากกีฬา โดย น.พ.อี๊ด ลอประยูร ความรู้ด้านจิตวิทยาทางการกีฬา โดย ผศ.ดร.นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร รวมถึงเทคนิคการฝึกซ้อมด้วยอุปกรณ์อย่างมืออาชีพกับผู้ฝึกสอนนักกีฬาเพาะกายทีมชาติของสมาคม
ทั้งนี้ผู้ที่จะผ่านการอบรมและได้รับวุฒิบัตรจากทางสมาคมจะต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานการสอบภาคทฤษฎีที่ทางสมาคมและสถาบันWISDOM กำหนด โดยในปีที่ผ่านมามีผู้เข้ารับการอบรมแต่ยังสอบไม่ผ่านต้องมาดำเนินการสอบซ่อมในครั้งนี้ด้วย
สำหรับหลักสูตร “ผู้ฝึกสอนกีฬาเพาะกายระดับชาติ” (National Bodybuilding Coaching Certificate หรือ NBCC) เป็นหนึ่งในหลักสูตรที่สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะสร้างบุคลากรในสาขาอาชีพนี้ให้รองรับการเติบโตของสถานประกอบการธุรกิจการออกกำลังกายฟิตเนส ได้อย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างรายได้เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมกีฬาของประเทศไทยต่อไป