ผ่านไปแล้วสำหรับกระบวนการ MOU (Memorandum of understanding) หลังพรรคการเมืองร่วมกันลงนามจัดตั้งรัฐบาล และพร้อมตอบคำถามประชาชนถึงการเฝ้าระวัง จับตาการทุจริตของภาครัฐ โดยหนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังจับตาและปราบปรามคือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ สำนักงาน ป.ป.ช. ที่จะมาเปิดเผยวิธีการทำงาน และเครื่องมือที่ใช้ประเมินความโปร่งใสของภาครัฐ ผ่านโต๊ะข่าวรายการ “เจาะข่าวเด็ด สเปเชียล” (The Day News Update Special) โดยผู้ประกาศข่าว “บ๊อบ-ณัฐธีร์ โกศลพิศิษฐ์” พร้อมแขกรับเชิญ คุณนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาแชร์ถึงเครื่องมือการประเมินคุณธรรมภาครัฐ หรือที่เรียกว่า ITA ที่นำมาใช้ปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น ว่าประชาชนจะใช้เครื่องมือนี้อย่างไร
บ๊อบ ณัฐธีร์ : ป.ป.ช.เองก็รู้สึกว่าประตูเปิดแล้ว พร้อมที่จะทำงานแบบสบายใจ แต่จริงๆแล้วในหน่วยงานภาครัฐ ป.ป.ช.เองก็ลงไปขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา วันนี้มีข้อมูล ITA เรื่องของการประเมินความโปร่งใส คุณธรรมในหน่วยงานต่างๆ ป.ป.ช.ก็ใช้เครื่องมือนี้มาวัดความโปร่งใสต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ เครื่องมือนี้ทำหน้าที่อะไรยังไงครับ?
คุณนิวัติไชย : ITA เป็นเครื่องมือที่เป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งซึ่งเรานำมาจากประเทศเกาหลีใต้ ที่มีตัวชี้วัดแบบนี้กับหน่วยงานภาครัฐ เกี่ยวกับเรื่องคุณธรรม แต่เราเอามาปรับปรุงให้สอดคล้องกับเราว่า นอกจากชี้วัดเรื่องคุณธรรมภายในหน่วยงานแล้ว ยังชี้วัดเรื่องความโปร่งใสการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ วันนี้เรามองว่าในหน่วยงานภาครัฐต่างๆยังไม่มีเครื่องมืออะไรที่เป็นตัวชี้วัดที่สามารถจับต้องได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเรานำเครื่องมือนี้มาประยุกต์ และเริ่มทดลองใช้ตั้งแต่ประมาณปี 54-88 ตอนนั้นมีไม่กี่หน่วยงานภาครัฐเป็นหน่วยงานนำร่อง และเราก็มีการพัฒนามาเรื่อย ๆ กระทั่งปี 61 ครม.มีมติว่า ITA เป็นเครื่องมือชี้วัดที่น่าจะมีประสิทธิภาพ สามารถขี้วัดหน่วยงานรัฐทั้งข้าราชการ เจ้าพนักงานของรัฐ ตั้งแต่รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ปกครองท้องถิ่น ทั้งหมดเลย มาเข้าร่วมและใช้ตัวชี้วัดนี้ เพื่อดูเรื่องคุณธรรมและความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐนั้น
บ๊อบ ณัฐธีร์ : เราเอามาจากเกาหลีใต้ เวลาให้มาเป็นแบบฟอร์มในการประเมิน เอามาแล้วใช้ได้เลยมั้ย?
คุณนิวัติไชย : ยัง อย่างที่บอกเอามาปรับปรุง ระบบของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ระบบการเมืองการปกครอง วัฒนธรรม ประชาชน ทัศนคติ หรือระบบเศรษฐกิจ ในการบริหารรประเทศแตกต่างกัน ก็ต้องมาดู เราใช้นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาร่วมดูว่าปบบสอบถามต่าง ๆ ที่จะใช้เป็นเครื่องมือชี้วัด
บ๊อบ ณัฐธีร์ : อะไรที่จะเหมาะกับแบบไทย ๆ เรา การใช้ ITA ประเมิน เราจะรู้ว่าหน่วยงานนั้น เป็นยังไง?
คุณนิวัติไชย : ITA เป็นเครื่องมือชี้วัด มี 3 ส่วน ส่วนแรกคือ IIT เป็นเครื่องมือชี้วัดบุคลากรหรือเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนั้น จะชี้วัดว่าการบริหารของผู้บริหารหน่วยงานนั้นมีความโปร่งใสหรือไม่ เช่นการแต่งตั้งโยกย้าย การรับของขวัญของรางวัล มีการเรียกรับเงินสินบนในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ส่วนที่สอง EIT บุคคลภายนอกที่มาใช้บริการ หรือมาติดต่อหน่วยงานราชการ เช่นกรมที่ดิน จะไปจดทะเบียนหรือออกเอกสารสิทธิ์ ก็ไปติดต่อเจ้าหน้าที่ มีการเรียกรับเงินหรือไม่ มีการแซงคิวมั้ย หรือการให้บริการดีหรือไม่ ส่วนที่สาม OIT เกี่ยวกับเรื่องความโปร่งใสตรวจสอบได้ เพราะฉะนั้นจะเน้นไปที่ข้อมูลในหน่วยงาน เช่นมีโครงสร้างในหน่วยงานอย่างไร มีกี่สำนัก อธิบดีชื่ออะไร รองอธิบดีชื่ออะไร มีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อมั้ย สามารถติดต่อยังไง มีหน้าที่อะไร ช่องทางการให้บริการมีกี่ช่องทาง และมีกรอบด้วยว่าในการติดต่อต้องใช้เอกสารอะไรยังไง นอกจากนั้นแล้วยังมีข้อมูลที่เปิดเผย เช่นข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง วันนี้หน่วยงานคุณมีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามงบประมาณ มีข้อมูลอยู่บนเว็บไซต์มั้ย คุณก็ต้องมีระบบสารสนเทศภายในตนเองด้วย บังคับว่าต้องมีและต้องเปิดเผย
บ๊อบ ณัฐธีร์ : การทำประเมินต่างๆ และการเก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มีความสำคัญ แสดงว่าหน่วยงานไหนที่ไม่ใช้ อิเล็กทรอนิกส์ ในการบริการ คะแนนก็จะตกวูบเลย?
คุณนิวัติไชย : ใช่ จะเห็นว่าหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่คะแนนหล่นวูบลงมาเพราะไม่มีการลงข้อมูล หน่ายงานอาจจะโปร่งใส แต่ไม่ลงข้อมูล คะแนนหล่นวูบเลยแม้จะไม่มีเรื่องทุจริตก็ตาม
บ๊อบ ณัฐธีร์ : ประชาชนที่ไปใช้บริการจะไปประเมินอย่างไร?
คุณนิวัติไชย : หลักของ ITA เกี่ยวกับเรื่อง EIT กำหนดไว้ว่า จะต้องมีช่องทางให้ประชาชนที่ใช้บริการเข้าถึง สามารถให้คะแนน หรือให้ข้อเสนอแนะกับหน่วยงานนั้นๆ ได้ เช่น บริการคิวอาร์โค้ดในเว็บไซต์ ที่ให้คำแนะนำหรือคะแนน ITA ได้
บ๊อบ ณัฐธีร์ : ไม่ได้เจาะแค่เฉพาะการทุจริต แต่เจาะถึงความโปร่งใสในการดำเนินงาน ความยุติธรรม?
คุณนิวัติไชย : ใช่ครับ แต่ละหน่วยงานให้การบริการต่างกัน อย่างเช่นหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ตำรวจให้บริการแบบหนึ่ง สาธารณสุขให้บริการอีกอย่างหนึ่ง หรือหน่วยงานทางธุรกิจ เช่น การไปจดทะเบียน การจดเอกสารสิทธิ์กรมที่ดินหรือการใช้บริการของโรงพยาบาลแตกต่างกัน ต้องตั้งความหวังว่าประเทศไทยในเรื่องทุจรติคอรัปชั่นจะมีการปราบปรามและมีประสิทธิภาพที่ได้ผลดีขึ้น เพราะหากไม่ตั้งความหวังก็จะรู้สึกหดหู่ โดยเฉพาะรัฐบาลใหม่ที่มาตั้งเป้าไว้ว่าจะมีการปราบปรามการทุจริตอย่างเข้มงวดกวดขัน รวมทั้งจะมีการแก้ไขกฎหมายด้วย
ติดตามรายการ “เจาะข่าวเด็ด สเปเชียล” (The Day News Update Special) โดยผู้ประกาศ “บ๊อบ ณัฐธีร์ โกศลพิศิษฐ์” เจาะลึกกันแบบสด ๆ ได้ทุกวันศุกร์ เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ทางช่อง MONO29 หรือที่แอปพลิเคชัน MONO29 สามารถรับชมรายการย้อนหลังได้ที่ https://youtu.be/QE0XimvuUJY
#Mono29 #บ๊อบณัฐธีร์ #Thedaynewsupdatespecial #เจาะข่าวเด็ดสเปเชียล #ITA #ทุจริต #ปปช