5 ผลงานวิจัยจาก 5 สถาบันอุดมศึกษา ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาพื้นที่ (บพท.) ช่วยต่อยอดองค์ความรู้จากงานวิจัย ไปใช้ประโยชน์ในการสร้างความอยู่ดีกินดี และสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก ได้รับรางวัลงานวิจัยดีเด่นประจำปี 2565         (Thailand Research Expo Award 2022)  ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติประจำปี 2565

มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติประจำปี 2565 ซึ่งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พร้อมด้วยหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัย และเครือข่ายมหาวิทยาลัย รวมทั้งหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดขึ้น ได้มีการมอบรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นแก่สถาบันอุดมศึกษารวม 35 รางวัล จากจำนวนผลงานวิจัยกว่า 160 องค์กรทั่วประเทศ  โดย 5 ผลงานที่ได้รับรางวัล เป็นผลงานที่ได้รับสนับสนุนทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

ในจำนวนผลงานที่ได้รับรางวัล ซึ่ง บพท.ให้การสนับสนุนทุนวิจัยทั้ง 5 รางวัลประกอบไปด้วย

1.รางวัลผลงานวิจัยยอดเยี่ยม  Platinum Award ได้แก่  มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ กับผลงาน “การจัดการทุนทางวัฒนธรรมขับเคลื่อน เศรษฐกิจฐานรากพื้นที่เส้นทางการค้าโบราณ จังหวัดบุรีรัมย์” ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 120,000 บาท และเกียรติบัตร

หัวใจสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้ เป็นการการใช้งานวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ผนวกเข้ากับทุนทางวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เกิดเป็นผลิตภัณฑ์และกิจกรรมที่มีคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม ก่อให้เกิดแรงดึงดูดด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เป็นการขับเคลื่อนสังคมบนฐานเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการสร้างความเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืนแก่เศรษฐกิจฐานราก

2.รางวัล Silver Award  ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช กับผลงาน “มหัศจรรย์ “ป่าประ” เขาหลวง นครศรีธรรมราช” ได้รับถ้วยรางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 50,000 บาท และเกียรติบัตร

งานวิจัยชิ้นนี้ เป็นการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมมาใช้ในการจัดการเมล็ดประ พืชท้องถิ่นของจังหวัดนครศรีธรรมราชให้มีมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงเชิงพาณิชย์ และเป็นสินค้าเอกลักษณ์ของจังหวัดที่หลากหลาย รวมทั้งการนำเปลือกเมล็ดประ ไปทำเป็นสีของผ้ามัดย้อม เกิดประโยชน์จากเมล็ดประด้านมิติสังคมและเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

3.รางวัล Bronze Award ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กับผลงาน “การพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกร และผู้ประกอบการกาแฟอาราบิก้าในชุมชนจังหวัดเชียงรายตลอดห่วงโซ่อุปทาน” ได้รับถ้วยรางวัลจากปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 30,000 บาท และเกียรติบัตร

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านธุรกิจของผู้ประกอบการกาแฟ อาราบิก้าในชุมชนจังหวัดเชียงรายให้ดีขึ้นกว่าเดิม ด้วยการให้องค์ความรู้ทั้งด้านกระบวนการผลิตเพื่อยกระดับคุณภาพตามมาตรฐานโลก รวมถึงการพัฒนากระบวนการบริหารเชิงธุรกิจ สามารถวางแผนการผลิตและการจัดการด้านการเงินอย่างเป็นระบบ ควบคู่กับการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีศักยภาพเพื่อเป็นช่องทางการตลาดในรูปแบบใหม่ ยกระดับการซื้อขายเมล็ดกาแฟคุณภาพสู่สากลมากขึ้นสร้างความยั่งยืน โดยมุ่งหวังที่จะเพิ่มมูลค่าสูงขึ้นจากเดิมไม่น้อยกว่า 10% เพิ่มยอดขายไม่น้อยกว่า 15%

นอกจากนี้ ยังมีรางวัลชมเชย อีก 2 รางวัล จาก มหาวิทยาลัยทักษิณ กับผลงาน “การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดพัทลุง และมหาวิทยาลัยพะเยา กับผลงาน “การผลิตโคเนื้อคุณภาพเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร จังหวัดพะเยา” ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท และเกียรติบัตร

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) มีบทบาทในขับเคลื่อนการพัฒนาบนฐานความรู้ด้วยการวิจัยและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและภาคีในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อประสานองค์ความรู้ของนักวิชาการเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้ตอบสนองความต้องการของแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่เพื่อเป็นเครื่องประกันความยั่งยืน

By admin

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *