บพท.รวมพลังนักวิจัย 26 มหาวิทยาลัยพัฒนาแผนงานวิจัยชุมชนนวัตกรรม ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก สู้ภัยโควิด-พายุเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนขยายตัวได้ถึงร้อยละ 20
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ชี้แจงผลลัพธ์การดำเนินการแผนงานวิจัย”ชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ในห้วงปีงบประมาณ 2563ต่อเนื่องถึงปีงบประมาณ 2565 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ประเทศไทยเผชิญกับมรสุมเศรษฐกิจ และสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโควิด-19 โดยกล่าวว่า แผนงานวิจัยดังกล่าวบรรลุเป้าหมายเป็นอย่างดีในการนำนวัตกรรม องค์ความรู้ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ไปสร้างความเข้มแข็งและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนในหลายพื้นที่ ทำให้ประชาชนสามารถนำองค์ความรู้และนวัตกรรมจากงานวิจัยไปใช้ในการบริหารจัดการปัญหาได้ด้วยตัวเอง สามารถพึ่งตัวเองได้อย่างยั่งยืน
“ความสำเร็จของแผนงานวิจัยชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันอย่างดีระหว่าง บพท.กับคณาจารย์ คณะนักวิจัยจากสถาบันอุดมศึกษา 26 แห่ง โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นแกนหลัก ซึ่งส่งผลให้เกิดชุมชนนวัตกรรมขึ้นใน 753 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่ 35 จังหวัดทั่วประเทศ เกิดการสร้างนวัตกรชุมชน 3,476 คน และเทคโนโลยีตลอดจนนวัตกรรมพร้อมใช้ รวมทั้งนวัตกรรมกระบวนการ สำหรับการแก้ปัญหาระดับชุมชนมากกว่า 860 นวัตกรรม”
ดร.กิตติ กล่าวด้วยว่า นวัตกรชุมชนกว่า 3,476 คน ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการดำเนินการตามแผนงานวิจัยชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือกลไกที่มีบทบาทอย่างสูงต่อความยั่งยืนของการพัฒนาชุมชน ในฐานะสื่อกลางในการนำองค์ความรู้ และนวัตกรรมไปใช้สร้างการเปลี่ยนแปลง และจัดการปัญหาในชุมชน ขณะเดียวกันแผนงานวิจัยชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในช่วงปีงบประมาณ 2563-2565 ยังมีส่วนอย่างสำคัญในการพลิกฟื้นมูลค่าเศรษฐกิจฐานราก และมูลค่าสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 10-20 อีกทั้งยังเกิดการนำนวัตกรรมเข้าสู่การทำแผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายระดับ ผ่านกลไกกระบวนการเรียนรู้( Learning and Innovation Platform-LIP) และเกิดการสร้างระบบข้อมูลด้านเทคโนโลยีรวมทั้งข้อมูลด้านนวัตกรรมระดับประเทศด้วย
ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในฐานะหัวหน้าโครงการประสานงานและบริหารจัดการเพื่อการสร้างแพลตฟอร์มที่มีศักยภาพสูงสำหรับขับเคลื่อนโครงการชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ผลงานความสำเร็จของการดำเนินการแผนงานวิจัย”ชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”ของปีงบประมาณ 2563-2565 จะถูกประมวลมาจัดแสดงใน“ชุมชนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้” (Learning and Innovation Community) ภายใต้แนวคิด”สร้างชุมชนดี นวัตกรเด่น เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ณ โรงแรมเอส 31 สุขุมวิท ระหว่างวันที่ 8-9 พฤศจิกายน 2565
“ในงานนี้จะมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพท.จำนวน 15 ชุดโครงการ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศ เช่น โครงการพัฒนาชุมชนนวัตกรรมด้วยการยกระดับศักยภาพด้านการท่องเที่ยวนโยบายสาธารณะ วิสาหกิจชุมชน และผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยมหาวิทยาลัยพะเยา-การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีภายใต้บริบทชุมชน “เขา ป่า นา เล” ในพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย-การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและต้นแบบแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรมพร้อมใช้และนวัตกรชุมชน โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน-นวัตกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการจัดการตนเองของชุมชนเพื่อรองรับสังคมสูงวัย โดยความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาควิชาการและภาคีเครือข่ายจังหวัดอุตรดิตถ์ แพร่ น่าน โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์-การยกระดับเศรษฐกิจและการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่เมืองเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อสร้างเป็นต้นแบบชุมชนแห่งการเรียนรู้/ นวัตกรรมด้วยการจัดการชุมชนสร้างการเรียนรู้บนฐานทรัพยากร โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี”