ตามที่ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มอบหมายให้ คณะกรรมการพิจารณาวินัย มารยาท พิจารณา กรณีที่ กองเชียร์ของ สโมสร ฉะเชิงเทรา ไฮเทค เอฟซี และ พัทยา ดอลฟินส์ ยูไนเต็ด ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ในการแข่งขันฟุตบอล ไทยลีก 3 โซนภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา
สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงนาทีที่ 82 ของการแข่งขันที่ กองเชียร์ทีมพัทยา ดอลฟินส์ ยูไนเต็ด และกลุ่มชายฉกรรจ์ 5-6 คน ที่นั่งอยู่บนรถน้ำได้เกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทอย่างรุนแรงบริเวณด้านหลังอัฒจันทร์ทีมเยือน ซึ่งไม่ทราบว่ากลุ่มชายฉกรรจ์ที่นั่งอยู่บนรถน้ำที่เกิดการปะทะเป็นใคร เพราะไม่ใช่เป็นกลุ่มที่ตะโกนด่าทอกับกองเชียร์ทีมพัทยา ดอลฟินส์ ยูไนเต็ด
ในเบื้องต้น ทางกองเชียร์ทีมพัทยา ดอลฟินส์ ยูไนเต็ด ได้เข้าแจ้งความไว้กับทาง สน.ท้องที่ เรียบร้อยแล้ว โดยมีผู้บาดเจ็บเป็นกองเชียร์ทีมพัทยา ดอลฟินส์ ยูไนเต็ด ทั้งหมดจำนวน 4 ราย หนึ่งในนั้นได้รับบาดเจ็บ สาหัสถึงกับแขนหัก
สำหรับ เหตุการณ์ดังกล่าว ทางคณะวินัย ได้ติดตามความคืบหน้าของคดี รวมถึงรวบรวมพยานหลักฐาน และบุคคลทั้งหมด เพื่อประกอบคำพิจารณา พร้อมกันนี้ยังมีคำชี้แจงจากทั้งสองสโมสร
โดยทาง พลตำรวจโทอำนวย นิ่มมะโน ประธานคณะกรรมการวินัยมารยาทฯ ยืนยันที่จะใช้ หลักการ ในมาตรฐานเดียวกันกับกรณีที่กองเชียร์ สโมสร เมืองทอง ยูไนเต็ด กับ สโมสรการท่าเรือ เอฟซี ที่เคยเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559
กล่าวคือ หากพบว่ามีผู้ใดกระทำความผิด จะถูกลงโทษ ตามระเบียบ ว่าด้วยการลงโทษฯ ข้อ 4.10 ก่อการทะเลาะวิวาทกับกองเชียร์ทีมเหย้า หรือทีมเยือน ในสถานที่จัดการแข่งขัน องค์กรสมาชิกต้นสังกัดของกองเชียร์ที่ก่อเหตุ จะถูกปรับเงิน 100,000 บาท และระเบียบ การลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 1 ข้อ 2 ลักษณะโทษของทีมหรือองค์กรสมาชิก ข้อ ค. เล่นโดยไม่อนุญาตให้กองเชียร์เข้าสนาม ประกอบกับกฎ “ฟีฟ่า” (FIFA Disciplinary Code) section 9 ข้อ 65 และ 67 ห้ามกองเชียร์ทั้งสองสโมสรเข้าชมการแข่งขัน ในทุกนัดที่เหลืออยู่ที่สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ จัดการแข่งขันของฤดูกาล
นอกจากนี้ การพิจารณาลงโทษ ทีมเหย้า จะลงโทษตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ ข้อ 5.3.17 ความบกพร่องด้านการรักษาความปลอดภัยในแข่งขัน ข้อ ข. “ไม่สามารถป้องกันหรือระงับเหตุที่เกิดขึ้นจากการกระทำสถานที่จัดการแข่งขันไม่ว่ากรณีใด ๆก็ตามและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นภาพลบต่อการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพ องค์กรสมาชิกที่เป็นทีมเหย้า จะถูกปรับเงิน 100,000 บาท” และลงโทษตามระเบียบว่าด้วยการลงโทษฯ บทที่ 3 หมวดที่ 1 ข้อ 2 ลักษณะโทษของทีมหรือองค์กรสมาชิก ข้อ ง. และ จ. ประกอบกับกฎ “ฟีฟ่า” (FIFA Disciplinary Code) section 9 ข้อ 65 และ 67 ที่เมื่อสนามเหย้า ไม่ได้มาตรฐาน ในเรื่องของการรักษาความปลอดภัย มีเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายของกองเชียร์ในบริเวณสนาม เกิดขึ้นหลายครั้ง อาจสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายของกองเชียร์ขึ้นได้อีก จึงเห็นควรห้าม สโมสร ใช้สนามเหย้า ในทุกรายการที่สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ จัดขึ้น เป็นจำนวน 5 นัด เพื่อให้สโมสร ดำเนินการปรับปรุงระบบการักษาความปลอดภัยในการใช้สนามให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนดต่อไป